MGR Online - "ราชทัณฑ์" นำคณะสื่อมวลชน ดูงานเรือนจำกลางคลองเปรม หลักปฏิบัติควบคุมผู้ต้องขังข้ามเพศ มีแยกห้องนอนอย่างชัดเจน แบ่งการอาบน้ำเพื่อป้องกันการถูกละเมิด
วันนี้ (1 ส.ค.) เรือนจำกลางคลองเปรม แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อม นายสมภพ สังคุตแก้ว รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกฯ และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ นำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าศึกษาดูงานการควบคุมดูแลตามมาตรการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามโครงการ "สื่อมวลชนสัญจร Press Tour เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ"
นายสหการณ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่มาตรการควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ภายในแดน 1 เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 1,085 คน โดยเป็นกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศ ทั้งสิ้น 64 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่แปลงเพศโดยสมบูรณ์แล้ว จำนวน 14 คน , ประเภทที่ 2 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศแต่ลักษณะทางกายภาพไม่เป็นไปตามเพศกำเนิด เช่น มีการเสริมหน้าอก จำนวน 9 คน และ ประเภทที่ 3 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศและไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการแยกขัง เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 41 คน โดยปัจจุบันนี้มีอยู่เพียง 2 เรือนจำ คือ เรือนจำกลางคลองเปรม และเรือนจำพิเศษพัทยา ที่แยกผู้ต้องขังข้ามเพศ
นายสหการณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับเรือนจำได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ (50Ps) โดยยึดถือหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติและจะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านี้เช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังทั่วไป รวมถึงสิทธิการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ตลอดจนการพัฒนาพฤตินิสัยที่ผู้ต้องขังจะได้รับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อาทิ การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และความสนใจของผู้ต้องขังข้ามเพศ โปรแกรมและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคารพนับถือตนเอง และการได้รับการเคารพจากผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ต้องขังอื่นๆ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม และต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย ความเปราะบางและความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังกลุ่มนี้
"ส่วนภาพรวมทุกเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศรวมทั้งสิ้น 986 ราย แบ่งเป็น ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 700 ราย ผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน 200 ราย ผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดีทางเพศ 28 ราย ผู้ต้องขังเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 16 ราย ที่เหลือเป็นคดีอื่นๆ ขณะที่ในเรื่องของทรงผม ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้แปลงเพศแล้วก็สามารถไว้ผมยาวในระดับเดียวกับผู้ต้องขังหญิงได้ (ผมบ็อบสั้น) ส่วนถ้ายังไม่มีการแปลงเพศ ก็จำเป็นต้องไว้ผมตามวิถีเพศกำเนิด"
นายสหการณ์ กล่าวต่อว่า กรมราชทัณฑ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ดูแล และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ก้าวพลาด โดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมตามหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักทัณฑวิทยาโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ก้าวพลาดที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อให้เขาเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย ทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในเรือนจำกลางคลองเปรม แดน 1 มีเรือนนอน 2 ชั้น ทั้งหมด 90 ห้อง โดยแบ่งให้ผู้ต้องขังข้ามเพศที่แปลงเพศแล้ว 2 ห้อง โดยเฉพาะและอนุโลมให้อาบน้ำในห้องนอนได้ ส่วนอีก 4 ห้องเป็นผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศแต่มีการเสริมหน้าอกและกลุ่มเกย์ ซึ่งการอาบน้ำจะต้องไปรวมกับผู้ต้องขังชายแต่จะมีการกันพื้นที่ให้เพื่อป้องกันเป็นเป้าสายตาผู้ต้องขังอื่น โดยผู้ต้องขังที่เสริมหน้าจะนุ่งโจงกระเบนแทน อย่างไรก็ตาม การแยกผู้ต้องขังเพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศเป็นหลัก