MGR Online - “พงศ์เทพ” ประธานหารือคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมหุ้น STARK พัฒนาระบบ AI จับผิดบริษัทต้องสงสัย เตรียมสรุปรายงานผลการศึกษาภายใน 3 เดือน
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมหุ้น STARK ครั้งที่ 3 ร่วมกับผู้แทนจาก คณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) , สำนักงานปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , กรมบังคับคดี, ผู้แทนจากสถาบันการเงิน และตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้รับรายงานข้อมูลจากเลขาธิการ ก.ล.ต.ฯ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบ AI เพื่อป้องกันและติดตามการกระทำที่ไม่ถูกต้องของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะพัฒนาระบบและปรับให้มีความเหมาะสมกับข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ไทย แต่เบื้องต้นมีระบบการตรวจสอบบริษัทที่เรียกว่า health check เพื่อตรวจสอบสถานภาพของบริษัท สามารถเฝ้าระวังบริษัทต้องสงสัยอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลนี้เป็นความลับ ไม่สามารถประกาศให้บุคคลภายนอกรู้ได้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปซื้อขายหุ้นโดยไม่ทราบข้อมูล
"ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการส่งสัญญาณแบบเบาๆ เพื่อเตือนนักลงทุนโดยไม่สร้างความตื่นตระหนกในตลาดฯ และไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้อง โดยสำหรับต่างประเทศนั้นจะมีการเตือนบ่อยครั้งเป็นปกติ ทำให้ตลาดฯ ไม่ตื่นตระหนกมากนัก รวมถึงมีการลงโทษบริษัทกระทำความผิดอย่างรุนแรงทำให้นักลงทุนไม่ตื่นตระหนก นอกจากนี้ มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล เช่น ก.ล.ต.ให้ช่วยดำเนินคดีแบบกลุ่มให้กับผู้เสียหาย โดยคณะทำงานจะทำรายงานผลการศึกษาแผนประการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน"
นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ความคืบหน้าคดีการทุจริตหุ้นสตาร์คนั้น ตามยึดทรัพย์ไปแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองไทยและบางส่วนอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ทาง ปปง. ยืนยันว่ายังไม่ปรากฏมีเส้นทางการเงินไปที่ประเทศอังกฤษ สำหรับผู้เสียหายที่ไปซื้อกันหุ้นเองในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องไปขอรับชำระหนี้ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ชนะคดีแบบกลุ่ม และได้รับค่าชดเชยค่าเสียหาย ทั้งนี้ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สตาร์คนั้นจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งให้กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดีภายในวันที่ 13 ส.ค.67
นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีผู้เสียหายตั้งข้อสังเกตเรื่องมีผู้บริหารอาวุโสและประธานคณะกรรมการบริษัทสอบบัญชีที่ถูกร้องเรียน (ดีลอยท์) มาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการใน ก.ล.ต.นั้น บุคคลดังกล่าวได้ดำรงตำแหน่งใน ก.ล.ต.ขณะยังไม่เกิดเหตุขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุแล้วก็ต้องกลับไปพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติต้องห้ามผู้ของผู้เป็นกรรมการว่า ควรมีข้อกำหนดหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรเข้าไปมีส่วนในการพิจารณาเรื่องใดหรือไม่ ซึ่งจะต้องบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรายงานที่จะต้องนำเสนอด้วย ส่วน ก.ล.ต.นั้นก็ต้องปฏิบัติตามกฏหมายปัจจุบัน