xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายความ เล็งฟ้องแพ่งบริษัทเอกชน นำเข้า"ปลาหมอคางดำ"ชดใช้ค่าเสียหาย ให้ชาวบ้าน 16 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
สภาทนายความ เล็งฟ้องแพ่งคดีสิ่งแวดล้อมกับบริษัทเอกชน ชดใช้ค่าเสียหาย ให้ชาวบ้าน 16 จังหวัด ได้รับผลกระทบจาก"ปลาหมอคางดำ" และฟ้องศาลปกครองให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาฟื้นฟูทรัพยากร       
 วันนี้ (31 ก.ค. ) ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ  ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  ร่วมแถลงข่าว  เรื่องของเตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ว่าได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน  และสภาทนายความ ได้ตั้งประธานสภาทนายความทนายความจังหวัดรวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความ เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

ต่อมา มีชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม     

จากการสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานสภาทนายความ พบว่าปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากการประมงให้นำเข้าเพื่อการทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและมีการนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปีพ.ศ. 2553  ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการแห่งหนึ่งย่านจังหวัดสมุทรสงคราม  และพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มระบาดครั้งแรกที่ต.ยีสาร ต.แพรกหนามแดง  อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าว  คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความและคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง จึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง  คือ การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก “ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็น ผู้จ่าย”         

การดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครองและให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ


 ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวย้ำว่า เราจะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย บางคดีศาลแพ่งอาจจะสั่งชดใช้ค่าเสียหายเยอะ บางคดีก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่มากนัก อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล แต่เราสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนการยื่นฟ้องศาลปกครองนั้น จะมุ่งฟ้องหน่วยงานรัฐก่อน คาดว่าจะยื่นฟ้องไม่เกินวันที่ 16 ส.ค.นี้ นอกจากนี้กรณีที่ชาวบ้านผู้เสียหายเกรงว่าการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจะล่าช้า ต้องการให้พูดคุยกระทรวงมหาดไทย เพื่อออกประกาศให้ปัญหา"ปลาหมอคางดำ"เป็นภัยพิบัติแห่งชาติและเบิกงบประมาณมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ก่อนนั้น ตนรับปากว่าจะเป็นคนกลางไปเจรจาหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยให้ชาวบ้านด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ว่า กรณีปลาหมอคางดำ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาด “ปลาหมอคางดำ” ที่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ “หลุดรอดเข้าฟาร์มเพาะเลี้ยงกินสัตว์น้ำตัวอ่อนกุ้ง และปลา” สร้างความเสียหายให้เกษตรกรเป็นวงกว้างแล้วอย่างน้อย 16 จังหวัดในขณะนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่กระทบ และทำลายความหลากหลายของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย และลุกลามลงสู่ทะเล ด้วยลักษณะเฉพาะปลาชนิดนี้สามารถปรับตัว “ทนทุกสภาพแวดล้อม” ทำให้ปลาท้องถิ่นถูกกินเป็นอาหารลดจำนวนลงแล้วปลาหมอคางดำนี้ก็จะเป็นปลาหลักในแหล่งน้ำนั้นแทน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคการประมงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นข่าวประกาศจับ ‘ปลาหมอคางดำ’ ปรากฏในหลายพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นที่คุกคามระบบนิเวศและสัตว์น้ำดั้งเดิมซึ่งมีรูปแบบการดำเนินการที่หลากหลาย เช่น จัดแข่งขันจับปลาหมอคางดำด้วยการลากแหและอวน ระดมพลลงแขก ไปจนถึงการปล่อยปลาผู้ล่าสู่แหล่งน้ำ แต่การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะทั้งความที่ปล่อยปัญหานี้ไว้ยาวนาน มีการแพร่กระจายได้ง่าย

จากสถานการณ์ที่ระบบนิเวศกำลังเผชิญ แนวทางในการแก้ปัญหาตามหลักสากลทั่วโลก คือผู้ก่อปัญหาต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ การจัดการปัญหาปลาหมอคางดำระบาดถ้าหากว่าเลี้ยงแล้วไม่ประสบผลสำเร็จควรจัดการอย่างไร อาจเกิดการละเลยของผู้ที่นำเข้า หรือว่าเกิดความผิดพลาดของผู้ทดลองเลี้ยง จึงเกิดปัญหาขึ้นดังนั้นผู้ที่นำเข้าควรเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายในการกำจัดปลาหมอคางดำ เป็นเจ้าภาพในการกำจัดจนกระทั่งเหลือปลาตัวสุดท้าย ต้องมีแผนจัดการในพื้นที่ระบาดหนักและหาทางควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดในอนาคตอีก และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้วย


กรณีนี้ ทั้งบริษัทผู้นำเข้า และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต่างต้องร่วมกับผิดชอบในความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรับผิดชอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ความหละหลวมไม่มีมาตรการควบคุมที่ดี ปล่อยให้มีการนำเข้าจนมาสู่การระบาดของปลาหมอคางดำ การคุกคามปลาพื้นถิ่นปลาต่างถิ่นที่เข้าไปกัดกินสัตว์น้ำพื้นถิ่นและกุ้งหอยปูปลาในบ่อเลี้ยง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร รวมถึงระบบนิเวศเสียหายเป็นวงกว้าง เอกชนผู้นำเข้า และภาครัฐจึงมีหน้าที่ต้องแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดต้องมีการเร่งรัดให้แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธุ์ปลาเข้ามาในประเทศให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ สภาทนายความได้จัดตั้งคณะทำงานลงตรวจพื้นที่และข้อเท็จจริง หาคนมารับผิดชอบกรณีต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำและการทำลายปลาหมอคางดำว่าเหตุใด จึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ได้ จากนั้นจะฟ้องร้องทั้งคดีปกครอง คดีแพ่ง เพื่อให้เอกชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรับผิดและเยียวยาความเสียหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ระบบนิเวศน์
กำลังโหลดความคิดเห็น