MGR Online - ดีเอสไอ เตรียมเรียกสอบผู้เกี่ยวข้องหลังรับเป็นคดีพิเศษ โครงการวิจัยฯ พัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม วงเงินกว่า 600 ล. เข้าข่าย "ฮั้วประมูล"
สืบเนื่อง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีคำสั่งให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองฮั้วประมูล) รับกรณีกล่าวหา โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง จ.มหาสารคาม วงเงิน 600,587,000 บาท ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ 80/2567 โดยเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เชื่อว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันราคา หรือ “ฮั้วประมูล”
วันนี้ (30 ก.ค.) แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม เผยว่า เมื่อปี 2566 บุคลากรในสถาบันการศึกษาดังกล่าวมาร้องทุกข์กล่าวโทษ เฉพาะแค่โครงการวิจัยฯ ของมหาวิทยาลัย แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตรวจสอบกลับพบว่ามีโครงการวิจัยฯ ลักษณะเดียวกันที่ยื่นขอ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมกัน 4 มหาวิทยาลัย จำนวน 2,054,053,900 บาท แต่ต่อมามี 1 สถาบัน คืนงบกลาง ทั้งๆ ที่ผ่านการพิจารณาของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
แหล่งข่าวกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนพบว่ามีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยใน จ.มหาสารคาม ได้ร้องขอสนับสนุนงบกลาง เพื่อมาทำโครงการวิจัยฯ ภาคเกษตรกรรม อาทิ ด้านประมงหรือปศุสัตว์ในช่วงโควิดระบาด เพื่อทำวิจัยพัฒนาทักษะอาชีพ และผ่านขั้นตอนตามระเบียบจนโครงการวิจัยฯ ได้รับอนุมัติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565
"แต่ระหว่างทำโครงการวิจัยฯ กลับพบการทุจริตในสถาบันการศึกษา โดยวิธีเลือกเฉพาะเจาะจงนิติบุคคล ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เข้าข่าย "ฮั้วประมูล" แทนการ e-bidding (เสนอราคา) และโครงการวิจัยฯ ทำผิดวัตถุประสงค์ คือ นำงบมาซื้อ ไก่ หมู เป็ด ไข่ หรือ ผักผลไม้ แจกจ่ายชาวบ้านแทน รวมทั้ง จากการลงพื้นที่พบว่าบริษัทเป็นเพียงอาคารเก่า อย่างไรก็ตาม เมื่อรับเป็นคดีพิเศษแล้ว พนักงานสอบสวนจะเตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาสอบปากคำ ช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้"
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับ ประเด็นที่คณะพนักงานสอบสวนได้กำหนดไว้มีดังนี้ ประเด็นที่ 1 การตั้งขอเงินงบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกัน ดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการและการขออนุมัติใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน สำหรับดำเนินงานโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งของ เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน
ประเด็นที่ 2 การเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเบิกจ่ายเงิน งบประมาณแผ่นดินโดยทุจริต โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ร่วมกันเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน สำหรับดำเนิน โครงการฯ โดยทุจริต
ประเด็นที่ 3 มีกลุ่มบุคคล/นิติบุคคล ที่เข้ายื่นข้อเสนอ เสนอราคาและเข้าทำสัญญากับ โครงการในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีพฤติกรรมเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่กันซึ่งอาจ กระทำความผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ