MGR Online - รรท.อธิบดีดีเอสไอ รับโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการฯ ยกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมฯ จ.มหาสารคาม เข้าข่าย "ฮั้วประมูล" วงเงินกว่า 600 ล้านบาท
วันนี้ (25 ก.ค.) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดี
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เผยว่า มีคำสั่งให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) รับกรณีกล่าวหาว่าโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนของสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งใน จ.มหาสารคาม วงเงิน 600,587,000 บาท ไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากได้มีบุคคลร้องเรียนกล่าวหาว่าในการดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยเชื่อว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันราคา หรือ “ฮั้วประมูล” จึงสั่งการให้ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ทำการสืบสวน และมอบหมายให้ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำกับดูแล
"ต่อมา ผลการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่า ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เม.ย.65 อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2,054,053,900 บาท และสถาบันการศึกษาดังกล่าวเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ และทำการจัดซื้อปัจจัยการผลิตในภาคเกษตรกรรมเพื่อแจกจ่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีเฉพาะเจาะจง"
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า ทางการสืบสวนพบเหตุอันควรสงสัยว่านิติบุคคลที่ยื่นเสนอราคาและเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายปัจจัยการผลิตฯ ภายใต้โครงการดังกล่าว บางรายเป็นผู้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน อันอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 อันมีลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวเสริมว่า ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำความผิดตามที่มีการสืบสวนพบหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้รับไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ซึ่งหลังจากนี้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่แสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะกระทำได้เพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ และพร้อมทำความจริงให้ปรากฏตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป