xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดแผนประทุษกรรม STARK เตรียมนำ AI มาใช้ตรวจจับบริษัทเสี่ยงทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "พงศ์เทพ" ประธานถอดบทเรียนหุ้น STARK หารือร่วม "ก.ล.ต.-ดีเอสไอ" จ่อนำ AI มาใช้ตรวจสอบทุจริตบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ป้องกันความเสียหายทันที

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ครั้งที่ 2/2567 โดยมี พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วย พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , นางสุภางค์ เฉลิมนนท์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม , นายยิ่งยง นิลเสนา นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และคณะทำงานเข้าร่วม

นายพงษ์เทพ เปิดเผยหลังการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้พิจารณาร่วมกับ เลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อวางมาตรการป้องกันการกระทำโดยมิชอบในตลาดหลักทรัพย์ การแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อปกปิดข้อมูลและอื่นๆ โดย ก.ล.ต. จะมีการปรับระบบ แก้กฎหมายบางเรื่อง และเตรียมนำเทคโนโลยี AI มาช่วยตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มากกว่า 800 บริษัท โดยใช้มาตรฐานเดียวกับ ก.ล.ต. ในต่างประเทศ รวมถึง การปราบปรามจะบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้นขึ้น ส่วนการเยียวยา ทางรัฐจะดูแลผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีนักลงทุนหุ้นสามัญที่มีการซื้อขายกันเอง แต่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ให้ข้อมูลเท็จ ราคาจึงไม่เป็นตามความจริง

นายพงษ์เทพ เผยว่า ส่วนการหลบเลี่ยงของบริษัท STARK คือ การจัดทำบัญชีเท็จหลายครั้ง มีการสร้างแผนธุรกรรมและไม่มีการซื้อขายจริงแต่ยอมเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้ง มีการทำธุรกรรมกับบริษัทต่างประเทศที่ไม่ตรงไปตรงมา ทำให้การตรวจสอบยาก ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยการประชุมสัปดาห์หน้าจะสรุปว่ามีบริษัทหรือบุคคลใดเข้ามาเกี่ยวข้อง

ด้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับระบบ AI ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนานำเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อช่วยตรวจจับชี้เบาะแสหรือการกระทำที่อาจเกิดความผิด โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ เช่น เรื่องงบการเงิน พฤติการณ์กระทำความผิด และข้อมูลอื่นๆ ที่มีลักษณะเข้าข่ายหรือแนวโน้มกระทำความผิด แต่ระบบไม่ได้ยืนยันความผิดในทันที เพียงแค่บ่งชี้เบื้องต้น จากนั้น ก.ล.ต. จะเข้าตรวจสอบเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเร็วยิ่งขึ้น

พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความเสี่ยงนั้นจะแบ่งเป็นระดับ (เรต) ต่างๆ มีมาตรการเฝ้าระวัง หากเข้าข่ายระดับธงแดง (red flag) ก็ต้องรีบเข้าไปตรวจสอบทันที หากระบบพัฒนาจนสำเร็จจะนำไปประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ได้มีมาตรการเบื้องต้นเพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ เช่น บางบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต้องเพิ่มมาตรการความเข้มข้นเท่ากับบริษัทที่จดทะเบียนใหม่ รวมถึงการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี เพื่อป้องกันรับแจ้งเหตุให้เร็วขึ้น

"ส่วนกรณีหุ้น STARK เนื่องจากพบว่าไม่มีการส่งงบการเงินประจำปี และ ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบพบความไม่ปกติ จึงใช้อำนาจตามกฏหมายสั่งมีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (SPECIAL AUDIT) โดย ก.ล.ต. ใช้อำนาจตามกฎหมายในการอายัดทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ซึ่งได้แจ้งข้อมูลไปยัง ปปง. ในคดีฟอกเงินและตามยึดอายัดทรัพย์สินได้ 2,500 ล้านบาท ส่วน ดีเอสไอ อยู่ระหว่างสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลเพิ่มเติมที่รับทรัพย์ของกลุ่มผู้ต้องหา ในความผิดอาญาฐานฟอกเงินด้วยเช่นกัน"

ขณะที่ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ ระบุว่า ดีเอสไอ ได้รวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม หลัง ก.ล.ต. มาร้องทุกข์กล่าวโทษ ทั้ง ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำ จนสั่งฟ้องผู้ต้องหา 11 ราย ใช้ระยะเวลาเพียง 6-7 เดือน ส่วนคดีฟอกเงินที่ขยายผลเพิ่มเติม อยู่ระหว่างสอบสวน ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ แต่ยืนยันมีผู้ต้องหาในคดีเพิ่มเติมแน่นอน ปัจจุบันยังไม่พบเส้นทางการเงินเพิ่มเติมที่โอนย้ายไปต่างประเทศ

พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า สำหรับแผนประทุษกรรมนั้นแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน โดยคณะทำงานเน้นไปที่คดี STARK เรื่องของการตกแต่งบัญชีและการทุจริตของผู้บริหารเป็นหลัก ถ้ามีแผนประทุษกรรมคล้ายกันจะง่ายต่อการดำเนินการ หากในลักษณะอื่นแต่ในคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ อาจมีการศึกษาเพิ่มเติมในความผิดนั้นๆ

ส่วนทาง นางสุภางค์ กล่าวถึงการเยียวยาว่า ทางผู้เสียหายบางรายฟ้องคดีแพ่งเอง ส่วน ปปง.ได้ยึดอายัดทรัพย์สินของผู้การกระทำความผิดแล้ว รอศาลมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดก็จะนำทรัพย์มาเฉลี่ยคืนผู้เสียหายต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น