แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรมเปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า มีผู้พิพากษาศาลฎีกามีตำแหน่งทางบริหารรายหนึ่งได้ขอลาออกจากราชการ หลังจากที่พ้นตำแหน่งบริหาร ในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส ไปจนถึงอายุ 70 ปี
แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุผลที่ผู้พิพากษาศาลฎีการายนี้ขอลาออกจากราชการ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษารวมถึงการพิจารณาว่าผู้พิพากษา ซึ่งอยู่ฝ่ายบริหารและต้องพ้นตำแหน่งเมื่ออายุครบ 65 ปี จะไปดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโสที่ศาลไหนอย่างไร โดยขั้นตอนการพิจารณารายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายจะต้องผ่านการพิจารณาของอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(อนุ ก.ต.) ก่อน แล้วจึงส่งให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรม (ก.ต.) พิจารณาอีกครั้ง
“ แต่ปรากฏว่า อนุ ก.ต. มีมติไม่ให้ผู้พิพากษาศาลฎีการายนี้เป็นผู้พิพากษาอาวุโส เนื่องจากมีการหยิบยกกรณีที่ผู้พิพากษารายนี้ไปพูดกับองค์คณะของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองให้รอการลงโทษสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ที่เสียบบัตรแทนกันในคดีนางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยกับพวก แต่ในที่สุด องค์คณะพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอการลงโทษ" แหล่งข่าวระบุ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดี อม.อธ.6/2566 อัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ ยื่นฟ้องนายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีเสียบบัตร ส.ส. แทนกันในการประชุมสภา
ศาลฎีกาชั้นอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงจำคุก 9 เดือน โดยศาลวินิจฉัยว่า ในข้อที่ขอให้ลงโทษสถานเบานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เสียงข้างมาก เห็นว่า ความผิดฐานเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 17 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง วางโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษให้1 ใน 4 นั้น เป็นการลงโทษในอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามมากแล้ว ไม่มีเหตุที่องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ส่วนการขอรอลงโทษจำคุก นั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสาม ไม่ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ให้รอลงโทษจำคุก เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่ให้มีใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
ซึ่งคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว