ศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้งไม่รับฟ้อง “พล.ต.ท.คำรบ” อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ขอให้เพิกถอนมติ กกต.รับรองสิทธิ 200 ส.ว. เหตุฟ้องซ้ำ เพราะเคยมีคำสั่งเรื่องนี้แล้ว
วันนี้ (18 ก.ค.) ที่ศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง ศาลนัดฟังคำสั่งในคดีที่ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีต ผช.ผบ.ตร., นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง, น.ส.ณัฐนันท์ ทองดี อดีตผู้สมัคร ส.ว.ฟ้อง ผอ.การเลือกตั้งระดับประเทศ เเละคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนการประกาศของ กกต. รับรอง ส.ว. 200 ท่าน และขอให้ศาลฎีกา สั่งให้มีการเปิดหีบบัตรนับคะแนนใหม่เพื่อตรวจสอบการเชื่อมโยงของโพยกับบัตรลงคะแนนและพิจารณาตัดสิทธิผู้ที่ได้คะแนนลำดับสูงและผู้ที่ได้คะแนนมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจคำฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องคัดค้านต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.ไม่โปร่งใสและบริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการรวมกลุ่มกันของผู้สมัครบางคนและบางกลุ่ม เพื่อให้มีการลงคะแนแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ในลักษณะฮั้วกัน โดยมีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าว ซึ่งหากศาลฎีกาสั่งให้มีการเปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนนใหม่โดยใช้ระบบเครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าว และมีคำขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนประกาศผู้อำนวยการการเลือการเลือก ระดับประเทศ เรื่อง ผลการนับคะแนในการลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกันลงวันที่ 27 มิ.ย.2567 ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ผลการเลือก ส.ว.ลงวันที่ 10 ก.ค. 2568 และเพิกถอนสิทธิผู้สมัครรับเลือกซึ่งได้คะแนนในลำดับที่ 1-6 ทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มที่ 14 นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 กับนายประหยัด เสนวิรัช เคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาอ้างว่า การเลือกส.ว.ไม่โปร่งใสและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะมีการรวมกลุ่มกันของผู้สมัครบางคนและบางกลุ่มเพื่อให้มีการลงคะแนแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในลักษณะฮั้วกันโดยมีผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังกระทำการดังกล่าวซึ่งหากศาลฎีกาสั่งให้มีการเปิดหีบและนับคะแนนใหม่โดยใช้ระบบเครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ทราบถึงความไม่ชอบมาพากลดังกล่าวและมีคำขอให้ศาลฎีภามีคำสั่งชะลอการประกาศรับรองผู้สมัครที่ได้รับเลือกทุกกลุ่มไว้ก่อน และให้จำเลยที่ 2 นับคะแนนใหม่โดยใช้เครื่องมือกลหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโดยเห็นว่าตามคำฟ้องของโจทก์ไม่เข้ากรณีที่จะใช้สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 44 เมื่อศาลฎีกา มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 กับพวก เนื่องจากไม่มีอำนาจเสนอคดีต่อศาลฎีกาได้โดยตรงแล้วดังกล่าว การที่โจทก์ที่ 1 ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลฎีกาโดยยกข้ออ้างเช่นเดียวกับคำฟ้องในคดีเดิมซึ่งศาลฎีกา ได้มีคำสั่งไปแล้ว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัย คดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก และการเพิกถอนสิทธิสมัคร รับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ข้อ 5 วรรรคสอง
โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 แม้จะไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่เมื่อปรากฏว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง ผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 แล้ว หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือก หรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นอันทำให้การเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ย่อมเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสังให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีผลทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาพผู้นั้นสิ้นลง หรือหากความปรากฏต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะส่งรื่องใปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเพื่อวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 62, 63 แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ผู้สมัครหรือผู้ใดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้โดยตรงเพื่อให้มีคำสั่งตามที่โจทก์ที่ 2, 3 มีคำขอ โจทก์ที่ 2, 3 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำฟ้องต่อศาลฎีกา
ส่วนที่โจทก์ที่ 2, 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาและคำร้องขอไต่ส่วนฉุกเฉินตามคำร้อง เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยเสร็จสิ้นมาดังกล่าวแล้ว จึงไม่ต้องสั่งคำร้องดังกล่าวอีกจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง