xs
xsm
sm
md
lg

"ทวี-พงศ์เทพ" หารือถอดบทเรียนคดีหุ้น STARK อายัดเงินทุจริตทันที-เสียหายน้อยสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "พงศ์เทพ" ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมหุ้น STARK หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางป้องกันความเสียหาย กรอบระยะ 3 เดือน

วันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 10-01 อาคารกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมประชุมคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) พร้อมด้วย นายสมบูรณ์​ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา​ รมว.ยุติธรรม​ พร้อมด้วย​คณะกรรมการฯ ร่วมประชุมคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมหุ้น STARK

ต่อมา เวลา 12.30 น. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมหุ้น STARK พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ จิตพิมลมาศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายบังคับใช้กฎหมาย 2 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และ ตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญ ร่วมแถลงข่าว

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การประชุมวันนี้เป็นครั้งแรก หลัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าวเพื่อศึกษากรณีหุ้น STARK เพื่อเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งอาจไม่ถึง 100% แต่เมื่อเกิดขึ้นความเสียหายต้องน้อยที่สุด และทำอย่างไรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบตั้งแต่เนิ่นๆ ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น โดยมีกรอบระยะเวลา 3 เดือน

นายพงศ์เทพ กล่าวอีกว่า การกระทำผิดส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เป็นหน้าที่ ก.ล.ต. จะรับผิดชอบเรื่องการคัดกรองผู้บริหารในตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้ง ทราบว่ามีการพัฒนาระบบต่างๆ เช่น การเข้าตลาดทางประตูหลัง (Backdoor Listing) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะให้รัดกุมมากขึ้น

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ส่วนการเยียวยาผู้เสียหายที่ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พบว่ายังมีช่องว่างอีกเยอะ ที่ไม่ได้รับการดูแล เนื่องจากกฎหมายยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งอาจมีการแก้ไขกฎหมายตามข้อเสนอแนะ เราจะศึกษาบทบัญญัติในต่างประเทศว่าจะคุ้มครองผู้เสียหายได้อย่างไร เช่น ผู้ซื้อหุ้นสามัญหรือซื้อหุ้นกันเอง ปัจจุบันต้องไปดำเนินคดีศาลแพ่งเอง และหน่วยงานของรัฐไม่สามารถดำเนินการตรงนี้ได้ แต่ในต่างประเทศจะเปิดให้หน่วยงานรัฐ ดูแลผู้เสียหายกลุ่มนี้ได้

"อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอ , ก.ล.ต. และ ปปง. จะบูรณาการร่วมกันให้มีความรวดเร็วมากขึ้น เพราะการทุจริตเช่นนี้จะต้องทำงานให้รวดเร็ว ยกตัวอย่างคดีหุ้น STARK เมื่อดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ ก็สามารถทำคดีได้อย่างรวดเร็วมาก ส่วนการติดตามทรัพย์สินหุ้น STARK ที่อาจมีการโยกย้ายไปต่างประเทศนั้น ปปง. อยู่ระหว่างดำเนินการอย่างต่อเนื่อง"

ด้าน พ.ต.ท.สุทธิศักดิ์ เปิดเผยว่า ในส่วน ก.ล.ต. มีการตรวจสอบทุกกรณีความผิดที่มีการแจ้งเบาะแสเข้ามา แต่บางกรณีอาจมีการตรวจสอบยาก เพราะมีการกระทำผิดอย่างแนบเนียน แต่เรามีกฎหมาย พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อายัดเงินที่อาจทุจริตเพื่อป้องกันการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินบังคับใช้อยู่ ไม่ต้องรอให้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งการคืนเงินผู้เสียหายนั้นต้องรอคำพิพากษาจากศาล และเป็นคนละส่วนกับ ปปง. ในคดีฟอกเงิน

"ส่วนอนาคตจะมีการตรวจสอบลักษณะคุณสมบัติบริษัทที่มีความเสี่ยงจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างไรนั้นจะนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น"

ส่วนทาง พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า ที่ผ่านมา ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์โดยตรงได้ และ ดีเอสไอ ต้องรอ ก.ล.ต. รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นก่อนแล้วส่งมาให้เราดำเนินการขั้นต่อไป โดยวันนี้ ดีเอสไอรับข้อเสนอแนะนำปรับปรุงกฎหมายของหน่วยงานเพื่อพัฒนาระบบให้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องรอ ก.ล.ต. ซึ่งอาจจะช้าไป

นอกจากนี้ ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวสั้นๆ ว่า อยากให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหายทุกกรณี และมีแนวทางการเยียวยาอย่างไรบ้าง ซึ่งการตั้งคณะทำงานเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะอนาคตเกรงว่าอาจมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีกจะได้ป้องกันความเสียหายได้รวดเร็ว




กำลังโหลดความคิดเห็น