ศาลคดีทุจริตฯยืนโทษ ประหารชีวิต"บรรยิน"อุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษา ชี้จำนนต่อหลักฐาน ไม่มีเหตุลดโทษ ส่วนจำเลย 3-6 จำคุกตลอดชีวิต ขณะที่จำเลย 2 โดนคุก 33 ปี 4 เดือน
วันนี้ (12 ก.ค.67) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 69/2563 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท 190/2563 ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 โจทก์ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ที่ 1 กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย กรณีใช้กำลังประทุษร้ายเอาตัว นาย ว. ผู้ตาย พี่ชายของ นางสาว พ. ผู้เสียหาย ไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง และใช้ความปลอดภัยในชีวิตของนาย ว. เป็นข้อต่อรองเรียกค่าไถ่ เพื่อข่มขืนใจผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่
ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยถ่ายทอดภาพและเสียง ผ่านทางจอภาพระหว่างศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางกับเรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม โดยมีสักขีพยานอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง และเรือนจำกลางคลองเปรม
นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ โจทก์ โจทก์ร่วม ทนายจำเลยที่ 4-6 มาศาล จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางบางขวาง ส่วนจำเลยที่ 3-6 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ส่วนทนายจำเลยที่ 3 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 รับในฎีกาว่าไม่พอใจโจทก์ร่วมอย่างรุนแรง โดยเชื่อว่าโจทก์ร่วมไม่เป็นกลาง จึงทึกทักคือเหมาเอาเป็นจริงเป็นจังว่า ถูกโจทก์ร่วมกลั่นแกล้ง จำเลยที่ 1 ได้ตัดสินใจกระทำการแก้แค้นโจทก์ร่วม แต่เปลี่ยนใจไปลักพาตัว นาย ว. ผู้ตายไปแทน แล้ววางแผนให้จำเลยที่ 2-3 สะกดรอยติดตามโจทก์ร่วมกับผู้ตายจนทราบที่พัก ประสงค์จะลักพาตัวผู้ตายไป เพื่อต่อรองให้โจทก์ร่วมพิพากษาคดีดังกล่าวเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 เช่นนี้การที่จำเลยที่ 1 คิดวางแผน และไตร่ตรองเพื่อลักพาตัวผู้ตายไป แล้วจึงลงมือกระทำความผิดตามแผน โดยมิใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายอันเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน ประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 289 (4)
ส่วนจำเลยที่ 4-6 ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 บอกจำเลยที่ 6 ให้ส่งจำเลยที่ 4-5 ลูกน้องของจำเลยที่ 6 ไปช่วยงานทวงหนี้ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 6 มอบเงินค่าตอบแทนการทำงานให้จำเลยที่ 4-5 คนละ 50,000 บาท และนำเสื้อผ้าที่จำเลยที่ 4-5 สวมใส่ในวันเกิดเหตุไปเผาทำลายหลักฐาน พฤติการณ์เหล่านี้ของจำเลยทั้งหก ย่อมเป็นอันรู้กันในกลุ่มจำเลยทั้งหกเป็นอย่างดีว่า การไปทวงหนี้มีความหมายถึงการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายแก่บุคคลอื่น ตั้งแต่การบังกับข่มขู่ อุ้มหายไปจนถึงการฆ่าเผานั่งยาง เพื่อทำลายพยานหลักฐาน
ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (13) บัญญัติว่า "ค่าไถ่" หมายความว่าทรัพย์สิน หรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือเพื่อให้แลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง ฉะนั้นค่าไถ่จึงมิได้หมายความแต่เพียงว่าต้องเป็นทรัพย์สิน หรือเป็นเงินที่เรียกเอาเพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป แต่หมายความรวมถึงประโยชน์อย่างอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือเงินซึ่งผู้กระทำต้องการเรียกเอา เมื่อจำเลยที่ 1 ลักพาตัวผู้ตายไปเจรจาต่อรอง เพื่อให้โจทก์ร่วมพิพากษายกฟ้องและให้คืนเงินกับหุ้นของจำเลยที่ 1 ผลของคำพิพากษาที่ยกพ้อง และให้คืนเงินกับหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ถูกอายัดไว้ จึงถือว่าเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จำเลยที่ 1 เรียกเอาจากโจทก์ร่วม เพื่อแลกตัวผู้ตาย และเป็นประโยชน์ซึ่งมีอยู่ในขณะกระทำการเรียกเอา โดยจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องได้ไปซึ่งประโยชน์ หรือแม้แต่โจทก์ร่วมจะไม่สามารถ หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ประโยชน์นี้ได้ก็อยู่ในความหมายของคำว่า "ค่าไถ่" ตามกฎหมายดังว่าแล้ว
เมื่อจำเลยที่ 4-6 รับรู้ความประสงค์ของจำเลยที่ 1 และที่ 6 มอบหมายให้จำเลยที่ 4-5 ไปช่วยกันลักพาผู้ตายโดยใช้รถยนต์คันก่อเหตุ จำเลยที่ 4-6 ย่อมเล็งเห็นได้ว่า แม้จะสวมกุญแจมือผู้ตายไขว้หลัง ใช้เทปกาวปิดปาก ใช้ถุงดำคลุมศีรษะแล้ว ผู้ตายต้องดิ้นรนต่อสู้ขัดขืน เมื่อจำเลยที่ 3 ทำร้ายผู้ตายชกบริเวณท้อง ลิ้นปี่และชายโครงผู้ตายหลายครั้ง หรือแม้เพียงครั้งเดียวจนผู้ตายนิ่งไป ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ชกผู้ตายบริเวณท้องซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรง ขณะผู้ตายถูกจำเลยที่ 5 ใช้เทปกาวปิดปากและนำถุงผ้าคลุมศีรษะตกอยู่ในสภาพที่หายใจไม่สะดวก ดังนี้ พฤติการณ์เยี่ยงจำเลยที่ 4-6 ย่อมคาดหมายได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และอาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์ที่จำเลยที่ 1 เตรียมไปในการลักพาตัว เช่น กุญแจมือ ถุงผ้า เพื่อคลุมศีรษะส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1, ที่ 3-6 รู้อยู่แล้วว่าผู้ตายจะต้องขัดขืนไม่ให้การนำตัวไปโดยง่าย เมื่อผู้ตายขัดขืนใช้กำลังบังคับหรือประทุษร้ายผู้ตาย เพื่อให้ผู้ตายยินยอมให้จำเลยที่ 1 เอาตัวผู้ตายไป และแม้ชกเพียงครั้งเดียว อาจทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายได้
เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็นำผู้ตายไปเผาในสถานที่ที่เตรียมไว้สมดังเจตนาของจำเลยที่ 1 การตายของผู้ตายจึงเกิดจากการถูกจำเลยที่ 3 ชกที่ท้องอย่างรุนแรง มีผลถึงตายอันเป็นผลธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้ายด้วยเจตนาฆ่าและเป็นผลโดยตรง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) และจำเลยที่ 1 กับ 3-5 มีความผิดฐานร่วมกันกระทำผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังบุคคลใดเป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคสอง และ 313 (3) วรรคท้าย เมื่อความตายของผู้ตายเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้จากการทำร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 63 ทำให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3-5 ต้องรับโทษหนักขึ้น จำเลยที่ 6 ย่อมมีความผิดและต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และ 87 วรรคท้าย ด้วยดุจกัน ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาและวางโทษจำเลยที่ 1 และที่ 5-6 มานั้น เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4-6 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3-5 ข้อต่อไปว่ามีเหตุตามกฎหมายให้ลดโทษแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3-5 หรือไม่ คดีนี้จำเลยที่ 3-5 ให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมและสอบสวน โดยจำเลยที่ 3 นำพนักงานตำรวจและพนักงานสอบสวนไปชี้สถานที่เกิดเหตุทั้งหมด เป็นผลให้พนักงานสอบสวนแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็นำคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 3 และรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ 4-5 มาประกอบดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานในการรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3-5 จึงเป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน และให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 7 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 3-5 ไปตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชอบแล้ว และถือเป็นเหตุลักษณะคดี จึงให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งแม้ให้การปฏิเสธแต่ยอมรับข้อเท็จจริงในส่วนที่อยู่ในความรู้เห็นของตนทั้งสิ้น และมิได้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การรับข้อเท็จจริงภายหลังทราบว่าจำเลยที่ 3-5 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน และหลังจากได้ตรวจดูและรับรู้พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมแล้ว เป็นการรับข้อเท็จจริงเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เคยรับราชการตำรวจในตำแหน่งพันตำรวจโท เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบกับมีทนายความแก้ต่างให้ ย่อมทราบถึงขั้นตอนและกฎหมายวิธีพิจารณาความว่า สามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาต่อไปได้ การที่จำเลยที่ 1 ใช้วิธีการที่ผิดกฎหมายบังคับผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี เพื่อให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ และร่วมกับพวกกระทำผิดในที่สาธารณะโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จึงถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ที่เป็นภัยต่อสังคมโดยรวมและส่งผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงจึงสมควรลงโทษสถานหนัก และไม่ลดโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ไม่ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3-5 ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้จำเลยที่ 2-5 และบังคับโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จากที่แก้คงเป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ศาลออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุด โดยจำเลยที่ 2 จำคุก 33 ปี 4 เดือน, จำเลยที่ 3-6 จำคุกตลอดชีวิต และจำเลยที่ 1 ให้ประหารชีวิต)