xs
xsm
sm
md
lg

"ดีเอสไอ" ขยายผลเอาผิด 7 ผู้ต้องหา เอี่ยวฟอกเงินหุ้น STARK - ตั้ง "พงศ์เทพ" แทน "พิชัย" ถอดบทเรียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - รรท.อธิบดีดีเอสไอ สอบเส้นทางการเงินบุคคลใกล้ชิด ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 7 ราย ฐานฟอกเงิน ส่วน "พิชัย" ถอน ปธ.ศึกษาแผนประทุษกรรม ตั้ง "พงศ์เทพ" แทน เหตุเพื่อความสบายใจ

วันนี้ (10 ก.ค.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรมฝ่ายการเมือง พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และโฆษกดีเอสไอ และ นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมาย ในฐานะโฆษกสำนักงานป้องกันและปราบปราบการฟอกเงิน (ปปง.) ร่วมแถลงเกี่ยวกับการดำเนินคดีและการติดตามทรัพย์สินในคดีทุจริตหุ้น STARK

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า ดีเอสไอ ดำเนินคดีเอาผิดผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้องคดีหุ้น STARK จำนวน 11 ราย โดยจับกุม นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ผู้ต้องหาคนสุดท้าย ทำให้ปัจจุบันพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลอาญาครบถ้วนแล้ว ซึ่งทุกรายอยู่ในการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล โดยกำหนดวันนัดพิจารณาคดีนัดแรก ในวันที่ 14 ม.ค.68 จนถึง นัดสุดท้ายในเดือน ธ.ค.68

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ต่อมา ดีเอสไอ ขยายผลเส้นทางการเงินเพิ่มเติมพบว่ามีการโอนถ่ายเททรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิดให้บุคคลใกล้ชิด เบื้องต้นมีผู้ต้องหา 7 ราย เป็นผู้ต้องหาใหม่ 5 ราย และอีก 2 รายเป็นผู้ต้องหาชุดเดิมใน 11 รายแรก ตรวจสอบมียอดเงินการโอน บางรายประมาณ 50-100 ล้านบาท รวมกว่า 380 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายเรียกมาชี้แจงและรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม คาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

"ดีเอสไอ อยู่ระหว่างการดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 กรณีที่มีการโอนหรือรับโอนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดมูลฐานฉ้อโกงประชาชน ร่วมกับ ปปง. เป็นคดีพิเศษที่ 32/2567 รวมทั้ง ยังมีการพิจารณาดำเนินคดีกับกรรมการบางรายเพิ่มเติมตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. มีการกล่าวหา" พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าว

ด้าน นายวิทยา เปิดเผยว่า สำหรับ ปปง. ได้มีมติคณะกรรมการธุรกรรม 2 คำสั่ง ยึดอายัดทรัพย์สินรวม 3,245 ล้านบาท แต่มูลค่าความเสียหายกว่า 15,900 ล้านบาท โดย ปปง. เคยประกาศให้มีการยื่นขอคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย ระยะเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย.66 - 26 ก.พ.67 มีผู้เสียหายขอรับการคุ้มครองรวม 4,724 ราย แบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ กลุ่มหุ้นกู้, หุ้นเพิ่มทุน, หุ้นสามัญ นอกจากนี้ ในกรณี ปปง. สามารถตามยึดได้เพียง 3,000 กว่าล้านบาทนั้น เนื่องจากคดีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 64 และเจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องก็ใช้เวลา 1-2 ปี อีกทั้ง ขบวนการผู้ต้องหาเป็นคนที่มีความรู้ มีความเตรียมในการโยกย้ายทรัพย์สินต่างๆ แต่ยืนยันว่าขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างการติดตามทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

นายวิทยา เผยว่า สำหรับผู้เสียหายที่มาลงทะเบียน ทาง ปปง.คาดว่าน่าจะเป็นจำนวนของผู้เสียหายทั้งหมด แต่ถ้าหากมีผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะพิจารณาประกาศยื่นขอคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายอีกครั้ง

ขณะที่ นายสมบูรณ์ ระบุว่า สำหรับประเด็นที่ รมว.ยุติธรรม มีคำสั่งแต่งตั้ง นายพิชัย นิลทองคำ เป็นประธานคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีหุ้น STARK แต่เจ้าตัวแจ้งความประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นประธานคณะทำงานฯ ดังกล่าว สาเหตุเพื่อความสบายใจต่อคณะทำงานหลังมีกระแสข่าวออกมาพาดพิง โดย รมว.ยุติธรรม จึงได้มีคำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 171/2567 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ยกเลิกคำสั่งเดิม และมีคำสั่งแต่งตั้ง นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม เป็นประธานคณะทำงานฯ แทน และมีการเพิ่ม เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายกสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย เข้ามาเป็นคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าวต่อไป

"ส่วนที่ผู้เสียหายเคยยื่นร้องกรณี นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ต้องหาในคดี STARK พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ล่าสุดทราบว่ากลับมาพักรักษาตัวต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา"

นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีต รมว.ยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น