xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทยทิ้งเด็ก 1 ล้านคน รัฐบาลติดหล่มประชานิยม มะเร็งร้ายทำลายโครงสร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ การศึกษาไทยทิ้งเด็ก 1 ล้านคน รัฐบาลติดหล่มประชานิยม มะเร็งร้ายทำลายโครงสร้าง



ถ้าเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยว่าแย่และชวนให้ช็อคแล้ว ลองเหลียวกับตัวไปดูตัวเลขเกี่ยวกับปัญหาสังคมและการศึกษา จะพบว่าน่าละเหี่ยใจยิ่งกว่า ภายหลังกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่าในปี 2566 มีเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันมากถึง 1,025,514 คน สูงขึ้นอีกเท่าตัวจากเดิมประมาณ 5 แสนคน

ในเรื่องนี้ สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา และกรรมการบริหารกสศ. ระบุว่า ส่วนใหญ่เด็กจะออกกลางคันในช่วงรอยต่อระหว่างมัธยมต้นไปสู่มัธยมปลาย แต่ปัจจุบันพบว่ามีจำนวนเด็กที่ออกกลางคันในช่วงรอยต่ออื่น เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เช่น จากระดับประถมศึกษาไปสู่ระดับมัธยมศึกษา หรือจากมัธยมศึกษาตอนต้นไปสู่สายอาชีพ ส่วนสาเหตุเด็กออกกลางคัน ไม่ได้มาจากเรื่องความยากจนเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต เพราะการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา มีความสัมพันธ์กัน

"ตอนนี้การเมืองหม่นหมองจนสร้างความไม่มั่นใจให้กับการทำงาน การลงทุน เศรษฐกิจถดถอยซบเซาจนสังคมมีสภาพผุกร่อน ไปถึงเรื่องระบบการศึกษาที่มีปัญหา ทำให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้น" กรรมการบริหารกสศ.แสดงความคิดเห็น

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมปัญหานี้ไม่ได้เพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แต่เป็นปัญหาที่คาราคาซังมานานแล้ว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วงของโรคโควิด 2019 ที่ไม่ได้ส่งผลต่อระบบสาธารณสุขเท่านั้น แต่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ซึ่งมุมนี้นักวิชาการจากกสศ.ก็มองตรงกันว่า "ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลชุดเก่าไม่ได้ทุ่มเทเอาใจใส่กับวิกฤตเด็กออกกลางคันให้ดีเท่าที่ควร ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดปัญหาวิกฤตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน"

อย่างไรก็ตาม การจะโทษรัฐบาลในอดีตอย่างเดียวก็คงไม่มีประโยชน์อีกแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา ทว่าเมื่อเหลียวมองกลับไปที่รัฐบาลแล้ว ต้องยอมรับว่ายังไม่เห็นถึงความเป็นรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปการศึกษาเท่าใดนัก โดยจะเห็นได้ว่ารัฐบาลกำลังทุกสรรพกำลังส่วนใหญ่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความคิดของรัฐบาลที่ว่าด้วยเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจดีและเป็นพายุหมุนอย่างที่ตั้งใจไว้ รัฐบาลจะได้รับประโยชน์ตอบแทนกลับมาในรูปของภาษี เพื่อนำมากระจายจัดสรรตามความเหมาะสม ซึ่งภาคการศึกษาก็จะได้รับอาณิสงฆ์ไปด้วย

แต่ความจริงกับความฝันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่พยายามหวังพึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสำคัญนั้นจนถึงทุกวันนี้ยังคงลูกผีลูกคน หาความชัดเจนไม่เจอ แถมงบประมาณกว่า 1 แสนล้านบาทที่จะนำมาใช้ในโครงการยังถูกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 แขวนไว้อีก

ยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการทุ่มงบประมาณเพื่อนโยบายประชานิยมมากเท่าไหร ยิ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลกำลังทำให้งบประมาณที่ควรลงไปกับด้านการศึกษาเหือดหายมากขึ้น ถึงขนาดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นที่มีต่อโครงการเงินดิจิทัลไปยังรัฐบาลแบบมีเนื้อหาหยิกเล็บเจ็บเนื้อว่า "รัฐบาลควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการนำงบประมาณ 500,000 ล้านบาทไปใช้ลงทุนในโครงการที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ตัวอย่างการใช้งบประมาณที่ผ่านมา ได้แก่...โครงการ เรียนฟรี 15 ปี สำหรับนักเรียนทั่วประเทศ (83,000 ล้านบาทต่อปี) จะสามารถสนับสนุนได้นานถึง 6 ปี"

วิกฤตการศึกษา ไม่ต่างอะไรปัญหาที่เป็นน้ำซึมบ่อทราย ซึ่งยังไม่ปะทุกขึ้นมาทันที แต่หากระยะยาวรัฐบาลไม่ไม่เห็นสำคัญ อาจไม่ได้เป็นปัญหาที่กัดกินประเทศไทยอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น