MGR Online - “ดีเอสไอ” แจงเร่งรัดดำเนินคดีหมูเถื่อนต่อเนื่อง ขอความร่วมมือหน่วยงานตรวจปล่อยเข้มงวดกระบวนการนำเข้า ป้องกันปัญหาในอนาคต ไม่ระบาดซ้ำซาก
วันนี้ (28 มิ.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า สืบเนื่องจากข้อห่วงใยของสาธารณชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินคดีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแปรรูป เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายเกรงว่าคดีจะมีความล่าช้า เนื่องจากมีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งสำนักงานอัยการสูงสุด และประสงค์จะให้คดีเข้าสู่กระบวนการโดยเร็วที่สุดนั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอชี้แจงว่า กรมฯ มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งในการดำเนินคดีได้แบ่งเป็นสองส่วน คือ 1. ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในกระบวนการอนุมัติหรืออนุญาตให้นำเข้าเนื้อสุกรมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจำเป็นต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่อาจแทรกแซงได้ และ 2.ส่วนที่เป็นเอกชน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับนโยบายจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวในการขับเคลื่อนคดีให้รวดเร็ว และเป็นไปตามกฎหมาย โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งคดีออกเป็นสองกลุ่ม คือ 1. กลุ่มแรกเป็นคดีที่ตรวจพบตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นของตกค้างระหว่างกระบวนการขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และ 2. กลุ่มที่พบหลักฐานการนำเข้าและจำหน่ายไปยังผู้บริโภคแล้ว โดยคดีทั้งสองกลุ่ม มีจำนวน 11 คดี ได้มีการประชุมเร่งรัดการสอบสวนอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่อยู่ในต่างประเทศผ่านช่องทางกฎหมาย คือสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเนื่องจากหากได้พยานหลักฐานมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมเป็นเหตุให้ศาลไม่รับฟังพยานหลักฐาน
ล่าสุด ได้มีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 67 เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีและพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการขอความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา จึงมิใช่เป็นกรณีการประวิงการดำเนินคดีดังที่สาธารณชนมีข้อกังวล
อย่างไรก็ตาม กระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษในเรื่องนี้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายหลังที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว ประการสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้มีการลักลอบนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายและข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว กรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานตรวจปล่อยเข้มงวดกระบวนการนำสินค้าประเภทเนื้อสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ส่งสำนวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้าซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบแล้วให้กับสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 5 คดี ได้แก่ คดีพิเศษที่ 59/2566 (ขบวนการนำเข้าโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 161 ตู้), คดีพิเศษที่ 101/2566 (บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิฟเม้นท์ จำกัด), คดีพิเศษที่ 104/2566 (บริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด), คดีพิเศษที่ 105/2566 (บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด) และล่าสุด คดีพิเศษที่ 106/2566 (ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์) เนื่องจากปรากฏพยานหลักฐานน่าเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดในกระบวนการลักลอบนำเข้าซากสัตว์ ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีเกี่ยวกับการนำเข้าเนื้อสัตว์เถื่อนเข้ามาในราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเหลือคดีพิเศษที่ 102-103, คดีพิเศษที่ 107-109/2566 อยู่ระหว่างสรุปสำนวนเสนอ ป.ป.ช. ประมาณกลางเดือน ก.ค. 67 ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 กรณีการนำเข้า จำนวน 2,388 ตู้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการขอตรวจสอบข้อมูลจากต่างประเทศผ่านกระบวนการความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ (MLAT) จาก 30 ประเทศต้นทางแล้ว รวมทั้ง คดีพิเศษ 127/2566 ซึ่งถือเป็นกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและเกษตรกร มีผู้ต้องหา รวม 16 ราย คือ 1. นายสมเกียรติ กอไพศาล หรือ เฮียเกียรติ 2. นายหยาง ยา ซุง 3. น.ส.นวพร เชาว์วัย 4. นายหลี่ เซิ่งเจียว หรือ เฮียเก้า 5. นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือ มิกซ์ บุตรชายบุญธรรมของเฮียเก้า ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มข้าราชการระดับสูงมีพฤติการณ์รับส่วย 6 ราย และเป็นพลเรือน 5 รายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช. กลางเดือน ก.ค.นี้ เช่นเดียวกัน