‘วิรุฬห์’ อธ.อัยการคดีพิเศษรับสำนวน ปปง.ขอให้ศาลอาญาสั่งตัดเส้นทางการเงินบุคคล 9 ราย เอี่ยวคดีก่อการร้าย-ระเบิดโรงพัก-รางรถไฟ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ชั้น 10 สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด คณะเจ้าหน้าที่ ปปง. ภายใต้การอำนวยการของ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการสำนักงาน ปปง. และผู้บริหารประกอบด้วย นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย นายภัทระ หลักทอง ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย,นายนรินทร์ ทองเพชร,ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบธุรกรรมและประสานความร่วมมือ ,นายพุทธิพงษ์ ณัชชาจารุวิทย์ ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนและปราบปราม,นางสาวสุภวรรณ คนเที่ยงผู้อำนวยการส่วนมาตรการลงโทษทางการเงินและปฏิบัติการพิเศษ ,นายคีรีมาศ สุขประสงค์ นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ หัวหน้าชุดสืบสวนที่ 1 ,นายกฤษณ์ เจนจิรวัฒนา นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ หัวหน้าชุดสืบสวนที่ 2ได้นำสำนวนขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเป็นผู้ถูกกำหนด (ถูกตัดเส้นทางธุรกรรมทางการเงิน) รวม 9 สำนวน 9 ราย ตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและ ปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2559 เเละ สำนวนขอให้เพิกถอนการเป็นผู้ถูกกำหนด 6 ราย รวม 6 สำนวน (เนื่องจากเดินทางมามอบตัว)มายื่นให้พนักงานอัยการคดีพิเศษเพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลเเพ่ง เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ซึ่งมีนายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ และอัยการในสำนักงานคดีพิเศษ รับมอบสำนวนดังกล่าว
รายงานข่าวระบุว่า สำนวนดังกล่าวสำนวนเเรกเป็นสำนวนผู้ถูกกำหนด กรณีคดีกลุ่มคนร้ายก่อเหตุวินาศกรรมลอบวางระเบิดอาคารที่พักแฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส เมื่อปลายปี 2565 จำนวน 8 รายชื่อ
สำนวนที่ 2 สำนวนผู้ถูกกำหนดกรณีคดีกลุ่มคนร้ายก่อเหตุวินาศกรรมลอบวางระเบิดรางรถไฟ เส้นทาง สายหาดใหญ่-สะเดา ขบวนรถไฟบรรทุกสินค้า เมื่อปลายปี 2565 จำนวน 1 รายชื่อ
เเละ 3 สำนวนคดีกรณีขอให้เพิกถอนทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดไว้แล้ว แต่ซึ่งได้กลับตัวกลับใจออกจากขบวนการกลุ่มผู้ก่อการร้าย จำนวน 6 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการขอให้เพิกถอนชื่อผู้ถูกกำหนดออกไปแล้วจำนวน 33 ราย จากรายชื่อทั้งหมด 340 ราย
สำหรับเรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการเชิงป้องกันการก่อการร้ายและความผิดฐานฟอกเงินอันเกี่ยวเนื่องกับความผิดฐานก่อการร้ายได้เป็นอย่างดีเพราะจากการที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นำโดยนายวิรุฬห์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและพนักงานอัยการในสำนักงานคดีพิเศษ ได้ร่วมมือกับสำนักงาน ปปง.ได้เข้ามามีส่วนดำเนินการในการทำสำนวนคดีผู้ถูกกำหนดจากการกระทำความผิดฐานก่อการร้ายแล้ว
พบว่าเมื่อบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแล้วต้องเป็นผู้ถูกกำหนดจะส่งผลกระทบกับการทำธุรกรรมทางการเงิน เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้บุคคลดังกล่าวได้กลับตัวกลับใจไม่เข้าเป็นแนวร่วมกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายและแจ้งขอมอบตัวดังตัวอย่าง 33 รายข้างต้น และขอให้พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษทำการยื่นขอเพิกถอนชื่อจากการเป็นผู้ถูกกำหนด นับว่าเป็นความสำเร็จในเชิงป้องกันการก่อการร้ายในระดับหนึ่ง
ส่งผลให้การดำเนินการป้องกันการก่อการร้ายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอันเป็นการร่วมมือกันประสานการทำงานในระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งสำนักงาน ปปง.พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ และศาลแพ่ง ในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอันเนื่องมาจากความผิดมูลฐานการก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี