xs
xsm
sm
md
lg

ปปง. ยึดอายัดทรัพย์ “คดียาเสพติด-ฉ้อโกงปชช.-พนันออนไลน์” 13 คดี มูลค่ากว่า 164 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษก ปปง. เผย คณะกรรมการธุรกรรมมีมติ ดำเนินการกับทรัพย์สิน 33 รายคดี มูลค่ากว่า 1,150 ล้านบาท ตามความผิดฐานฟอกเงิน

วันนี้ (14 มิ.ย.) นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.67 โดยพิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนี้ 1. ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 13 รายคดี ทรัพย์สิน 402 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 164 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อาทิ 1.1.รายคดี นายเจริญ กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด กลุ่มเครือข่ายขนาดใหญ่ จัดส่งยาบ้าผ่านบริษัทขนส่งของเอกชน โดย นายเจริญ เป็นหัวหน้าผู้สั่งการ ซึ่งมีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สิน 9 รายการ (ที่ดินและบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 16 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวว่า 1.2.รายคดี นายแก้ว กับพวก เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับฉ้อโกงประชาชนและการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ แอบอ้างว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วยเหลือวิ่งเต้นในการประกอบกิจการ หรือหลอกลวงว่าเป็นพนักงานอัยการ หรืออ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. โดยสุ่มโทรศัพท์ไปยังผู้บริหารองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศ อ้างว่ามีคดีหรือมีเรื่องที่ถูกตรวจสอบ จนทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้ผู้ต้องหา ตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในหลายพื้นที่ รวมค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 5 ล้านบาท โดยคณะกรรมการธุรกรรม มีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไว้ชั่วคราว 38 รายการ (บัญชี  เงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 6 ล้านบาท

นายวิทยา กล่าวอีกว่า 1.3.รายคดี นางรัตนาภรณ์ กับพวก เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มีหน้าที่รับผิดชอบคุมเงินงบประมาณฝ่ายคลัง รวมทั้งดูแลระบบบริหารจัดการครุภัณฑ์ (AMS) จัดซื้อ/จัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์และงานจ้างเหมาบริการ โดยพบว่ามีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ทุจริต แต่มีการปลอมลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่าย ซึ่งมีคำสั่งให้ยึดอายัดทรัพย์สิน 77 รายการ (เช่น เงินสด สินค้าแบรนด์เนม พระเครื่อง ยานพาหนะ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และบัญชีเงินฝากธนาคาร) มูลค่าประมาณ 30 ล้านบาท

"1.4.รายคดี กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ www.huaysodplus.com ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมเคยมีคำสั่งยึดอายัดทรัพย์สิน 289 รายการ มูลค่าประมาณ 197 ล้านบาท ในการนี้ให้อายัดทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) จำนวน 32 รายการ (เช่น หุ้น ที่ดิน เงินสด และสินค้าแบรนด์แนม) มูลค่าประมาณ 96 ล้านบาท"

นายวิทยา กล่าวต่อว่า 2.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 11 รายคดี ทรัพย์สิน 65 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 360 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์

"ทั้งนี้ ในคดีความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ หรือความผิดที่มีผู้เสียหายในคดีรายอื่นๆ สำนักงาน ปปง. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้เสียหายเพื่อดำเนินการคุ้มครองสิทธิฯ โดยให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายในรายคดีที่เกี่ยวข้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหายและจำนวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงาน ปปง. ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามแต่คดี โดยผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์สำนักงานปปง. (www.amlo.go.th)"

นายวิทยา กล่าวเสริมว่า 3.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืนผู้เสียหาย (คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย) จำนวน 9 รายคดี ทรัพย์สิน 236 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 626 ล้านบาท ในความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.การฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เป็นมาตรการทางแพ่งมิใช่โทษทางอาญา และการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำสั่งยึดหรืออายัดเป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันเป็นการแจ้งให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบและให้ผู้ที่เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียที่ถูกกระทบสิทธิจากคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินสามารถเข้ามาโต้แย้งเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดหรืออายัด

อีกทั้ง เป็นการป้องกันมิให้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือกระทำการใดๆ ต่อทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดซึ่งมีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น