xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : จาก ‘เดอะบีช’ ถึง ‘จูราสสิค เวิลด์’ ไทยแลนด์อ้าแขนรับ ‘ฮอลลีวูด’ อย่า…มองโลกสวยเกินไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 ตอน จาก ‘เดอะบีช’ ถึง ‘จูราสสิค เวิลด์’ ไทยแลนด์อ้าแขนรับ ‘ฮอลลีวูด’ อย่า…มองโลกสวยเกินไป



นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้สร้างภาพยนตร์ฟอร์มอย่าง จูราสสิค เวิลด์ภาค 4 เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ ประกอบด้วย 1.บริเวณหาดซันเซ็ท เกาะกระดาน อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เป็นระยะเวลา 5 วัน 2.บริเวณน้ำตกห้วยโต้ อุทยานแห่งชาติเขาพนมเบญจา จ.กระบี่ ระยะเวลา 3 วัน และ 3.บริเวณเขาตะปู เกาะสองพี่น้อง เกาะนากายะ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา ระยะเวลา 5 วัน โดยมีการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนต์และวางหลักประกันความเสียหายระหว่างถ่ายทำตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อย่างที่ทราบกันดีว่าภาพยนตร์จูราสสิค เวิลด์ ไม่ได้เป็นหนังระดับบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย เพราะเมื่อไม่นานนี้ภาพยนตร์ Fast & Furious ภาค 9 ก็ยกกองและทีมงานมาถ่ายทำเช่นกัน โดยเลือกพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นแรงดึงดูดให้ต่างชาติเลือกประเทศไทย นอกจากเรื่องสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการนำเสนอแล้ว มาตรการของภาครัฐก็มีส่วนสำคัญพอสมควร

กล่าวคือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 2 ส่วน ได้แก่ การปรับอัตราการคืนเงิน จากเดิม 15-20% เป็น 20-30% เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ 20% เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่อง เป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง

สำหรับกรณีของจูราสสิค เวิลด์ภาค 4 นั้นหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน คาดว่าจะมีเงินสะพัดมากถึง 400 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในแง่เม็ดเงินทางเศรษฐกิจที่จะตามมาย่อมเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพียงแต่เวลานี้ดูเหมือนว่าหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่ยังคงปิดตาข้างเดียวและมองข้ามถึงแนวทางการรับมือที่อาจจะตามมาภายหลังกองถ่ายได้ออกจากประเทศไทย

ตัวอย่างถึงผลกระทบมในอดีตที่เคยเกิดขึ้นชัดเจน คือ กรณีของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง The Beach ซึ่งมี ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ เป็นนักแสดงนำ และมีสถานที่ถ่ายทำหลักในประเทศไทยเมื่อกว่า20ปีที่แล้ว เวลานั้นผู้สร้างภาพยนตร์ได้นำอุปกรณ์และเครื่องจักรหนักเข้ามาปรับพื้นที่บริเวณอ่าวมาหยา จังหวัดกระบี่ เพื่อให้มีภูมิทัศน์ที่สอดคล้องกับบทประพันธ์มากที่สุด อีกทั้งเวลานั้นเจ้าหน้าที่รัฐยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ถึงขนาดที่สั่งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาบริเวณอ่าวมาหยา

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกันในเวลาต่อมา โดยเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2565 ศาลฎีกาพิพากษาให้ กรมป่าไม้ เยียวยาฟื้นฟูสภาพอ่าวมาหยาให้กลับมาสวยงามเหมือนเดิม เนื่องจากเป็นผู้อนุมัติให้เอกชนเข้าไปสร้างภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2541

ส่วน บริษัท 20th Century Fox ต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยจะมอบเงินให้แก่กรมป่าไม้ในการดำเนินการฟื้นฟูอ่าวมาหยาต่อไป และต้องรายงานผลการปฏิบัติงานต่อศาลทุกๆ 1 ปี ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปี หรือจนกว่าเงินจะหมด

นอกจากจะมีกรณีของภาพยนตร์เรื่องเดอะบีชเป็นบทเรียนครั้งใหญ่แก่ประเทศไทยแล้ว ยังมีบทเรียนเล็กๆที่แสดงให้เห็นว่าเอาเข้าจริงๆแล้วประเทศไทยก็ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มๆตามที่คิดเท่าใดนัก ภาพยนตร์ต่างประเทศหลายเรื่องที่มาถ่ายทำในประเทศไทย พอถึงเวลาออกฉายจริง ก็ไม่ได้มีเนื้อหาที่ระบุว่าเป็นประเทศไทย แต่กลับระบุว่าเป็นประเทศอื่นแทน

ทั้งนี้ แน่นอนว่าการมีผู้สร้างภาพยนตร์ระดับโลกมาใช้ประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดี และควรเป็นแนวทางที่ภาครัฐควรสนับสนุน แต่รัฐบาลชุดนี้ที่ยึดมั่น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เป็นสรณะนั้นควรกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเยียวยาด้วย หากในอนาคตเกิดความเสียหายตามมา โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น