xs
xsm
sm
md
lg

วทน.3 เสนอแนวทางกรรมการมรรยาททนาย แก้ไขปัญหาทนายขี้อวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวคุณภาพชีวิต



หลักสูตร วทน.3 เปิด 6 รายงานวิชาการ เสนอแนวทางแก้ปัญหาระดับประเทศ จี้กรรมการมรรยาททนายความเข้มข้นการจัดการทนายความโฆษณาอวดอ้างตัวเอง และเสนอแก้กฎหมายคุ้มครองสิทธิในคดีอาญาและคดีอื่นๆให้ทัดเทียมนานาชาติ ส่วนความผิดของเด็กต่ำกว่า 15 ปีใช้เทคโนโลยีควบคุม ปรับแก้อายุของเด็กที่กระทำผิด ส่วนการฟ้องคดีเช็คทำเป็นคดีอาญาเฟ้อ แนะให้ปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิก เพราะไม่สอดคล้องกับรธน.

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.67 ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง รุ่นที่ 3 (วทน.3 ) วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นำเสนอบทความทางวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้เข้าอบรม 6 กลุ่ม โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ประธาน วทน.รุ่น 3 และผู้เข้าร่วมอบรมเข้าร่วม

สำหรับบทความทางวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้เข้าอบรม 6 กลุ่ม ประกอบไปด้วย กลุ่มที่ 1 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “มาตรการทางกฎหมาย : กรณีเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี กระทำผิดทางอาญา” กลุ่มที่ 2 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “ปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ กรณีศึกษาพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534” กลุ่มที่ 3 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของ ผู้เสียหายในคดีอาญา”

กลุ่มที่ 4 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับของ รถจักรยานยนต์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม” กลุ่มที่ 5 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย: ปัญหาการนำ ประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้ในการ ดำเนินคดีความผิดทางพินัย” และกลุ่ม 6 นำเสนอผลงานวิชาการ เรื่อง “ปัญหาในการดำเนินคดีมรรยาททนายความ : กรณี ทนายความประกาศโฆษณาอันเป็นการโอ้อวดชักจูงให้ลูกความมาหาเพื่อเป็น ทนายความให้”

โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในแต่ละกลุ่ม อาทิ รองศาสตราจารย์สุเมธ จานประดับ ดร.ประสาน บุญโสภาคย์ นางพงษ์สวาท นีละโยธิน รองศาสตราจารย์ณัฐพงศ์ โปษกะบุตร ,นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร,ดร.เอกพงษ์ สารน้อย,ดร.ธนสาร จองพานิช,นายเอก วงศ์อนันต์,ผศ.ดร.ณัชชชญา ทองจันทร์ ,นายประภาศ คงเอียด,ดร.ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล,ดร.ปวีณา เอี่ยมศิริกุลมิตร เป็นต้น

สำหรับเรื่องปัญหาในการดำเนินคดีมรรยาททนายความ : กรณีทนายความประกาศโฆษณาอันเป็นการโอ้อวดชักจูงให้ลูกความมาหาเพื่อเป็น ทนายความให้ มีประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากในระยะหลังพบมีทนายความมีการซื้อสื่อในการประกาศโฆษณา โอ้อวด เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของตัวความ ในลักษณะการประพฤติ ผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในต่างประเทศมีข้อห้ามมิให้มีการโฆษณาในวิชาชีพทนายความ เช่นเดียวกับประเทศไทย ในเรื่องนี้ทาง คณะกรรมการมรรยาททนายความจึงต้องมีความกล้าหาญและเด็ดขาดในการทำหน้าที่เพื่อป้องกันและปราบปรามเพื่อพฤติกรรมดังกล่าวลดน้อยลงและมิให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบเช่นปัจจุบันอีกต่อไป

ส่วน เรื่อง “มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของ ผู้เสียหายในคดีอาญา มีประเด็นที่น่าสนใจ โดยยกปัญหาจากการที่ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและความคืบหน้าในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกี่ยวกับคดีของตนซึ่งผู้เสียหายควรได้รับการเยียวยาหรือชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หรือปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเกี่ยวกับการเรียกค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ตลอดจนปัญหาที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการรับรองและการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งในต่างประเทศ เช่น เยอรมนีได้กำหนดให้การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาคดี ในอังกฤษ ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้เสียหายไว้อย่างครบถ้วนโดยผู้เสียหายมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหาย จึงขอเสนอแนะว่าให้มีการแก้ไขกฎหมาย และกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญาที่เกี่ยวกับสิทธิของผู้เสียหายโดยให้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาและควรปรับปรุงแก้ไขให้มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ เรื่อง “มาตรการทางกฎหมาย กรณีเด็กอายุไม่ถึง 15 ปี กระทำผิดทางอาญา” มีการเสนอแนะควรมีกฎหมายหรือมาตรการในการควบคุมการใช้เทคโนโลยีของเด็กให้เกิดความเรียบร้อยในไม่ให้นำไปสู่การกระทำความผิดทางอาญาและมีเกณฑ์ให้บิดา มารดาหรือ ปกครองต้องรับผิด หากไม่ใช่ความระมัดระวังในการดูแล ปรับแก้อายุของเด็กที่กระทำผิด ทางอาญาให้รับโทษทางกฎหมายสอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน

สำหรับหัวข้อเรื่อง “ปัญหากฎหมายอาญาเฟ้อ กรณีศึกษาพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534” มีการเสนอแนะให้พิจารณาปรับปรุง แก้ไข หรือยกเลิก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน และลดการใช้งบประมาณและทรัพยากร ย่อมส่งผลดีต่อสังคมและส่งเสริมต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งยังทำให้ประชาชนไม่ถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพมากเกินไป หลังพบว่าในทางปฏิบัติเจ้าหนี้มักเลือกฟ้องเป็นคดีอาญาเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ยอมใช้หนี้โดยไม่ต้องโทษจำคุก ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการนำโทษทางอาญามาใช้บังคับกับการผิดนัดชำระหนี้ทางแพ่ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ในส่วนผลงานวิชาการ เรื่อง “กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มิได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้เสียหายในการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในการบังคับชดใช้เยียวยาความ เสียหายจากจำเลย จึงมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้เสียหายได้รับการเยี่ยวยาความเสียหายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมอย่างเสมอภาคโดยมิได้คำนึงถึงเพียงแต่สิทธิของจำเลย

เช่นเดียวกับผลงานวิชาการ เรื่อง “ปัญหาการฝ่าฝืนไม่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับของ รถจักรยานยนต์ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 พบว่าปัจจุบันจำนวนอุบัติเหตุอันเกิดจากรถจักรยานยนต์ได้ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือได้รับชดใช้ค่าเสียหายไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับจริง และหากผู้ประสบภัยจะใช้สิทธิทางแพ่งเรียกร้อง ค่าเสียหาย ก็จะต้องใช้เวลาดำเนินคดีที่ยาวนาน

อีกทั้งประชาชนยังขาดการรับรู้ ว่าเมื่อประสบอุบัติเหตุอันเกิดจากรถประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง ค่าชดเชยค่าเสียหายตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ขาดความรู้ด้านกฎหมายประกันภัยภาคบังคับ ซึ่งในการศึกษานี้ได้ข้อมูลสาเหตุที่เจ้าของรถ ไม่ทำประกันภัยรถภาคบังคับ และจัดทำ ข้อเสนอแนะแนวทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาในการให้ประชาชนตระหนักถึงประโยชน์ของการ จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ เพื่อเป็นประโยชน์ในการได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครองสิทธิให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถตามกฎหมายต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น