xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 10 ปีรัฐประหาร ปฏิรูประเทศล้มเหลว ถอยหลังลงคลอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม 2567 ตอน 10 ปีรัฐประหาร ปฏิรูประเทศล้มเหลว ถอยหลังลงคลอง



22 พฤษภาคม 2567 ครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์รัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าปีนี้กระแสจะเงียบๆพอสมควร ไม่ค่อยจะมีใครรำลึกหรือพูดถึงเรื่องนี้กันสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย

ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเพราะได้ไปซูเอี๋ยกับกลุ่มผู้มีอำนาจจนได้ผลประโยชน์แบบ 'วิน-วิน' แล้วหรือเปล่า

เห็นจะมีเพียงแค่ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นผู้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้โดยตรงเท่านั้นที่ยังพูดถึงการรัฐประหารอยู่

มองย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่แล้ว ต้องยอมรับเป็นห้วงเวลาที่ทหารจะได้รับดอกไม้มากกว่าก้อนอิฐ และมั่นใจว่าภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ควบเก้าอี้แห่งอำนาจถึง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีอำนาจเด็ดขาดตามมาตรา 44 จะนำบทเรียนจากความล้มเหลวเมื่อครั้งการรัฐประหาร 2549 มาปรับปรุงเพื่อให้การปฏิรูปประเทศสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ

แต่ทำไปทำมาตลอดเวลาของการอยู่ในอำนาจกว่า 5 ปี พลเอกประยุทธ์ ถูกแวดล้อมไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเพื่อรักษาอำนาจตัวเอง เห็นได้จากการที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ที่คสช.ตั้งมากับมือ โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเวอร์ชั่นของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะ ก่อนที่จะมีการเฉลยถึงเหตุผลของการโหวตฉีกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นว่า

"เพราะเขาอยากอยู่ยาว" ซึ่งคำว่า 'เขา' นั้นถือเป็นอันรู้กันว่าเขาคนนั้นคือใคร

ปรากฎว่าการอยู่ยาวไปเรื่อยๆ แทนทีที่จะเป็นเวลาแห่งการทำสร้างผลงาน กลับพบว่าการทำงานแบบหลงทิศหลงทาง จนเป็นรากเหง้าแห่งปัญหามาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการจัดทำรัฐธรรมนูญที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ามารับไม้ต่ออย่างไม่อาจปฏิเสธได้

แม้บรรดากรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะยืนยันถึงความเป็นอิสระในการจัดทำรัฐธรรมนูญ แต่ตามข้อเท็จจริงเมื่อมีรายการคุณขอมาอย่างกรณีที่คสช.เสนอให้มีส.ว.ตามบทเฉพาะกาลเข้ามาทำหน้าที่ช่วยประคับประคองประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองก็ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยอ้างว่าก็เป็นข้อเสนอที่ควรจะรับเอาไว้

มาจนถึงปัจจุบันนี้ก็ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลได้แสดงอภินิหารสมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งประชาชนคนไทยก็ต่างมีคำตอบในใจกัน เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างที่ควรจะเป็นแล้ว กลับแสดงพฤติการณ์ที่เป็นจระเข้ขวางวิถีทางประชาธิปไตยเสียมากกว่า

หากจะบอกว่ามรดกของคสช.ที่เหลือไว้อย่างวุฒิสภาชุดปัจจุบันแล้ว สภาพบ้านเมือง ณ เวลานี้กลับน่าห่วงยิ่งกว่า และเป็นสิ่งตอกย้ำถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกี้ยเซียะกันระหว่างผู้มีอำนาจ จนทำให้มีแนวโน้มว่าการเมืองไทยจะกลับไปอยู่สภาพความขัดแย้งเหมือนก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 ระบบและโครงสร้างทางการเมืองที่ควรจะมีความเข้มแข็งและสามารถตรวจสอบถ่วงดุลกันได้ก็ไม่ได้ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น

ฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคก้าวไกลที่น่าจะเป็นปากเสียงลุกขึ้นมาตรวจสอบถึงระบบการเมืองที่มีความไม่ชอบมาพากล ก็ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่คิด จนทำให้เกิดการมองว่าพรรคก้าวไกลเล่นการเมืองแบบกั๊กๆเพื่อหวังจะร่วมรัฐบาลหรือไม่

เมื่อกลไกของบ้านเมืองไม่อาจทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งกระบวนการที่คอยเซาะกร่อนก็ยังคงอยู่โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้เข้าไปจัดการถึงต้นตอ หรือแม้แต่การที่ผู้มีบารมีนอกรัฐบาลกำลังตัวเป็น “ซูเปอร์นายกรัฐมนตรี” ออกตรวจราชการ

ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่แปลกที่ผู้สันทัดกรณีบางคนเริ่มออกมาให้สังคมจับตาดูท่าทีของกองทัพว่าจะนั่งทนดูต่อไปอีกนานเท่าใด

แต่ถึงต่อให้ถึงวันที่กองทัพตัดสินใจเข้ามาจัดระเบียบการเมืองจริง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับดอกไม้เหมือนที่ผ่านมา เพราะวันนี้ประเทศไทยไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น