อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ สุราษฎร์ธานี ชี้แจงปมถูกพาดพิง ไม่ให้ความร่วมมือ พม.ยื่นคำร้องศาลเยาวชนฯเอาผิด “ลัทธิเชื่อมจิต” ระบุ แม้ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง แต่ได้ให้คำปรึกษากฎหมายเคสนี้มาตลอด
วันนี้ (25 พ.ค.) นางวรรณา วิพลชัย อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายสุราษฎร์ธานี (อจคช.) ได้มีหนังสือถึง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รายงานกรณีมีทนายความ กล่าวในรายการโทรทัศน์ข่องหนึ่ง ว่า อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ให้คำปรึกษาไม่ให้ความช่วยเหลือแก่ พม.และไม่แนะนำสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธาน์ในการยื่นคำร้องต่อศาลในกรณีลัทธิเชื่อมจิตนั้น ยืนยันว่าคำกล่าวข้างต้นไม่เป็นความจริง โดยขอชี้แจงดังนี้
1. หน้าที่หลักของอัยการคุ้มครองสิทธิฯ คือ การช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนมิใช่หน่วยงานของรัฐ และไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในคดีเยาวชน ยิ่งไปกว่านั้น ดิฉันมิได้มีตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ส่วนสำนักงานอัยการที่ให้คำปรึกษากฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นสำนักงานอัยการอื่นซึ่งมีอยู่หลายสำนักงานขึ้นอยู่กับประเภทของคดี อย่างเช่นในกรณีลัทธิเชื่อมจิตนี้สำนักงานอัยการคดีเยาวชนฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการให้คำปรึกษาและยื่นคำร้องในกรณีนี้
2. แม้ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงแต่ดิฉันในฐานะอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อัยการจังหวัด สคช.) ก็ให้คำปรึกษาแก่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี (พม.) ด้วยความเต็มใจและเต็มกำลังความสามารถมาโดยตลอดทุกครั้งที่ได้รับการร้องขอจาก พม. และเคยแจ้งให้ พม.ทราบแล้วว่า อัยการคุ้มครองสิทธิฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีสนับสนุนให้ พม.ใช้อำนาจศาลในการแก้ปัญหาลัทธิเชื่อมจิตโดยอัยการคุ้มครองสิทธิฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานีพร้อมให้คำปรึกษาในการยื่นคำรองต่อศาล เพียงแต่สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการยื่นคำร้องเอง
3. ดิฉันได้ประสานงานและพูดคุยให้คำปรึกษากับ พม.และรองอธิบดี พม. มาโดยตลอดบางครั้งใช้เวลาพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงโดยการติดต่อทางไลน์และวีดีโอคอล แม้จะอยู่นอกเวลาราชการดิฉันก็ให้คำปรึกษาแนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้อง นอกจากนี้ ดิฉันได้ชี้แจงข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการยื่นคำร้องพร้อมส่งคลิปที่จะใช้แนบในการยื่นคำร้องให้ พม.ด้วย เจ้าหน้าที่ พม.เคยแจ้งกับดิฉันว่า พม.จะส่งคำร้องที่จะยื่นคำร้องกับศาลมาให้ดิฉันตรวจ แต่สุดท้าย พม.ก็ไม่ได้ส่งคำร้องใดๆมาให้ดิฉันตรวจ จนกระทั่งดิฉันทราบต่อมาว่า พม.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลด้วยตนเองแล้วตามที่ปรากฏเป็นข่าว รายละเอียดปรากฎตามข้อความทางแชตไลน์ที่ได้แนบมาด้วยแล้ว
4. ดิฉันขอยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธิเชื่อมจิตเพราะโดยส่วนตัวไม่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดและทีมโฆษก ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อรองอธิบดีอัยการภาค 8 และอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้ว ยืนยันว่า ไม่มีพนักงานอัยการคนใดไปเกี่ยวข้องหรือมีความเชื่อศรัทธาหรือเป็นสาวกของลัทธิเชื่อมจิต รวมถึงไม่มีอัยการรู้จักครอบครัวของเด็กลัทธิเชื่อมจิตดังที่เป็นข่าว ส่วนการยื่นคำร้องเพื่อขอศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือการสงเคราะห์เด็กตามที่เป็นข่าวนั้นทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี(พมจ. สุราษฎร์ธานี)เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลด้วยตนเอง ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยไม่ได้มีหนังสือถึงพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้เป็นผู้ทำหน้าที่ยื่นคำร้องดังกล่าวให้แต่อย่างใด สำหรับอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องใดๆ และไม่ได้มีความเชื่อศัทธาในลัทธิเชื่อมจิตรวมทั้งไม่รู้จักครอบครัวเด็กที่ตกเป็นข่าวอีกด้วย โดยโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ประสานรองอธิบดีอัยการภาค 8 ให้แจ้งอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดโดยด่วนเพื่อนำเรียนผู้บริหารต่อไปด้วยแล้ว