รายการ “ถอนหมุดข่าว” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ ‘ป้าติ๋ม มรดกร้อยล้าน’ เจอข้อกฎหมายรุงรังอาจจบไม่สวยแบบนิยาย
จากที่เป็นเรื่องยกย่องว่าเป็นรางวัลของคนทำความดี มาตอนนี้ดูเหมือนจะใกล้กับคำว่า โอละพ่อ เข้าไปทุกขณะและทำท่าจะเป็นหนังยาวเสียแล้ว สำหรับปัญหามรดกที่นางณัฐวลัย ภูพองตา หรือ ป๋าติ๋ม ในฐานะแม่บ้าน ได้รับมาจากนางแคทเทอร์ริน เดลาคอท อายุ 59 ปี นักธุรกิจชาวฝรั่งเศส เจ้าของวิลล่าให้เช่า บนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ปืนจ่อปลิดชีพตัวเองริมสระน้ำในวิลล่าหรู
เดิมทีทรัพย์สินกว่า 100 ล้านบาทของผู้ตายน่าจะตกเป็นของแม่บ้านรายนี้ได้ไม่ยาก เพราะส่วนหนึ่งมีการอ้างว่าผู้เสียชีวิตได้มีการทำพินัยกรรมพร้อมกับสั่งเสียเอาไว้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทยกำหนดให้สิทธิในมรดกแก่ผู้รับพินัยกรรม เรียกได้ว่าหากผู้ตายเขียนพินัยกรรมไว้อย่างไร และเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น
แต่ทว่าเรื่องนี้ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเพราะมีการไปตรวจสอบพบว่าแหม่มแคทเทอร์รีน ผู้เสียชีวิต จดทะเบียนนิติบุคคล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2555 ชื่อบริษัท จี.วี.เอ็น.อี จำกัด ที่ตั้ง ม.2 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ประเภทธุรกิจ 55101 โรงแรม รีสอร์ต และห้องชุด วัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้เช่าที่พัก รีสอร์ต บังกะโล และบ้านพักตากอากาศ ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 20,000 หุ้น
ผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ผู้ตายถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 49 และมีคนไทยอีก 2 คน ถือหุ้นแบ่งกัน ร้อยละ 35 และ 16 ตามลำดับ การตรวจเจอเช่นนี้ยิ่งทำให้เรื่องมรดกซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะจะต้องนำข้อฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว มาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะความจริงแท้ของผู้ถือหุ้นชาวไทยว่าเป็นการถือหุ้นแทนชาวต่างชาติ หรือที่เรียกว่า 'นอมีนี' หรือไม่
ในประเด็นนี้มีข้อคิดเห็นจากที่น่าสนใจมาจากอดีตส.ส.ชื่อดังและเป็นทนายความที่ผ่านประสบการณ์การทำคดีมาอย่างโชกโชนอย่าง 'นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ' ที่แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซุบ๊กโดยระบุว่า " หากการจัดตั้งนิติบุคคลเป็นนอมินีของต่างด้าว(ผมก็รู้สึกเช่นนั้น ผมใช้คำว่ารู้สึกนะ) การจัดตั้งก็เป็นโมฆะ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดิน ต้องจำหน่ายที่ดินนั้นภายในเวลาที่กำหนด เมื่อจำหน่ายแล้ว ก็ต้องมาดูเจตนาของผู้ตาย ว่า เมื่อที่ดินถูกจำหน่ายกลายเป็นเงินไปแล้ว เราก็ควรเคารพเจตนาของผู้ตายโดยการมอบเงินให้ป้าติ๋มไป ไม่ใช่หรือ? มีกม.เกี่ยวข้องเยอะ ตั้งแต่พรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว,การถือครองที่ดินของคนต่างด้าว,การทำพินัยกรรม ฯลฯ แต่ละข้อออกซ้ายก็ได้ออกขวาก็ได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับจุดยืน และ แว่นตาที่เราใส่ แต่หากเรามีความเป็นธรรมในหัวใจ ทุกอย่างก็จบด้วยดี"
จากความคิดเห็นของทนายความรุ่นใหญ่ดังกล่าว ทำให้มองเห็นได้ว่าข้อพิพาทที่แสนวุ่นวายนี้น่าจะต้องไปชี้ขาดกันที่ศาลอย่างน้อยใน 2 – 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1.สถานะความเป็นต่างด้าวของนิติบุคคล 2.ความถูกต้องของพินัยกรรม และ 3.ทรัพย์สินควรตกเป็นของใคร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนพัวพันกันเป็นลูกโซ่ไปหมดทั้งระบบ
กล่าวคือ ต่อให้ถ้าบริษัทนี้ไม่ได้เป็นนิติบุคคลต่างด้าว ก็ยังต้องพิสูจน์กันอีกว่าพินัยกรรมของแหม่มผู้เสียชีวิตเป็นของจริงและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าถูกต้องก็จบ ทรัพย์สินจะถูกโอนเป็นของป้าติ๋มในฐานะผู้มีชื่อรับมรดกตามพินัยกรรม ในทางกลับกัน หากบริษัทเป็นนิติบุคคลต่างด้าว ที่ดินที่ถือบริษัทถือครองอยู่จะต้องมีการจำหน่าย และจะมีปัญหานัวเนียอีกว่าเงินจากการจำหน่ายที่ดินจะเป็นทรัพย์สินที่มีฐานะเป็นมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่อีกทอดหนึ่ง
เส้นทางนี้ยังอีกยาว ละครคุณธรรมเรื่องนี้ยังมีภาคต่อที่ต้องติดตามกันอีกหลายตอน ซึ่งบางทีอาจจบไม่สวยเหมือนนิทานก่อนนอนก็เป็นไปได้
--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android