นายกสภาทนาย จ่อลงพื้นที่ระยอง ช่วยโรงงานไฟไหม้ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสุขภาพประชาชน 100% ป้องกันปัญหาสุขภาพระยะยาว และให้คำปรึกษาเรียกค่าเสียหาย
เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (10 พ.ค.) ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ถังเก็บสารเคมีในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองเมื่อวานนี้ ว่าเบื้องต้นวันจันทร์ 13 พฤษภาคมนี้ เตรียมส่งอุปนายกและทีมสภาทนายความลงพื้นที่รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ว่าจะสามารถช่วยเหลือได้ในด้านใดบ้าง เพราะเห็นได้ชัดว่าเหตุไฟไหม้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะเรื่องปัญหาสุขภาพ และความเสียหายทั้งทางร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยนายวิเชียรเปิดเผยว่า ปัญหาสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โรงงานและรัศมีโดยรอบจุดเกิดเหตุ เป็นสิ่งที่น่ากังวล คือ ประเภทสารเคมีว่าเป็นเคมีชนิดใดบ้างและส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไร เพราะอาจจะที่มีผลกับสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ดังนั้นจะแนะนำให้ประชาชนทั้งหมดไปตรวจสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลสุขภาพประชาชน แม้จะยังไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แต่ก็ต้องให้ประชาชนตรวจสุขภาพ 100% ในรัศมีที่กำหนดตามการแพร่กระจายของสารเคมีที่ปล่อยออกมา ไม่ใช่การสุ่มตรวจ เพื่อที่หากในอนาคตเกิดปัญหาสุขภาพที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าเกิดจากเหตุไฟไหม้ดังกล่าว ข้อมูลในครั้งนี้ที่เก็บไว้ก็สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องแบบกลุ่มเรียกค่าเสียหายได้ภายหลัง แม้จะผ่านไป 10-20 ปี ก็ไม่มีอายุความ
โดยเบื้องต้นค่าเสียหายที่ประชาชนสามารถเรียกร้องได้ มีทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเยียวยาที่เกิดจากปัญหาสุขภาพ ค่าสูญเสียรายได้จากการขาดงานหรือไม่สามารถทำงานได้ หรือแม้แต่ค่าเช่าบ้านจากการที่ไม่สามารถพักอาศัยที่บ้านได้ อย่างไรก็ตามแม้ทางบริษัทที่เกิดเหตุไฟไหม้จะมีการเยียวยาให้ประชาชนในเบื้องต้นแล้ว แต่หากประชาชนยังไม่พอใจ หรือเยียวยาไม่เพียงพอ ก็ยังคงมีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ เว้นแต่จะได้ค่าชดเชยที่พอใจแล้วและไม่ประสงค์ฟ้องร้องอีก
ทั้งนี้นายกสภาทนายความยังยืนยันด้วยว่าที่ผ่านมาสภาทนายความฯได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายให้ประชาชนในคดีผลกระทบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสารเคมีมาแล้วหลายคดี เช่น คดีน้ำมั่นรั่วลงทะเลที่จังหวัดระยอง , คดีลักลอบเก็บกากแคดเมียมที่จังหวัดตาก , คดีโรงงานปล่อยน้ำเสียง และคดีบ่อขยะ ซึ่งสภาทนายความชนะคดี จนผู้กระทำผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด
ในวันเดียวกันมีตัวแทน 14 เครือข่ายจากจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ เดินทางมายื่นหนังสือ สภาทนายความฯ เพื่อร้องเรียนและยกระดับการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธ์ปลาเข้ามาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว
นายวิเชียร นายกสภาทนายความฯ เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่มาจาก ประเทศกาน่าสามารถอยู่ได้ทั้งน้ําจืดน้ํากร่อยแล้วก็น้ําเค็ม กินลูกปลา ลูกกุ้ง หอย กินหมด ทำลายปลาท้องถิ่น และระบบนิเวศชาวบ้านได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยจุดเริ่มต้นมาจาก บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง นําเข้ามาเพื่อมาทําการวิจัยทําการทดลองพัฒนาสายพันธ์ปลาทับทิม แต่ไม่เป็นผล จากนั้นอ้างว่านําไปทําลายแต่มีข้อมูลว่า กรมประมงไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแล ชาวบ้านก็สงสัยว่ามันมีการเล็ดลอด หรือจงใจปล่อยทําให้เกิดการแพร่พันธุ์ขยายพันธุ์ ทำให้ชาวบ้านเสียรายได้จากการเลี้ยงและจับ สัตว์น้ำ ปลาหรือกุ้ง มานานกว่า 18 ปี โดยประชาชนไม่ได้รับการช่วยเหลือ หรือเยียวยาใดๆ
ทางสภาทนายจะจัดตั้งคณะทำงานลงตรวจพื้นที่และข้อเท็จจริง เพื่อหาคนมารับผิดชอบกรณีต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำ และการทำลายปลาหมอคางดำว่าเหตุใดจึงมีการแพร่กระจายพันธ์ุได้ จากนั้นจะฟ้องร้องเพื่อหาค่าชดใช้เยียวยาให้ประชาชนที่เดือดร้อน
นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวว่า เรื่องนี้มีการหารือกันมาก่อนที่จะมีชาวบ้านเข้ามาร้องเรียน และทางสภาทนายฯได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนร่วมแก้ไขปัญหากับภาครัฐในเรื่องนี้ ซึ่งต้องมีคนรับผิดชอบและรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดก่อนที่ปลาหมอคางดำจะขยายพันธ์ุไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านและแถบเอเชีย จนเกิดเป็นปัญหาระดับชาติที่ประเทศไทยเป็นจุดเริ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ได้รับกระทบจากปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย ประกอบด้วย 1.กลุ่มประมงชานฝั่งบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 2.กลุ่มรักหาดเจ้า อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 3.กลุ่มรักอ่าวไทย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 4.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลยี่สาร จ.สมุทรสงคราม 5.กลุ่มเครือข่ายเพาะเลี้ยงคลองโคน จ.สมุทรสงคราม 6.เครือข่ายประมงพื้นบ้านบางแก้ว จ.สมุทรสงคราม 7.เครือข่ายเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ จ.สมุทรสงคราม 8.เครือข่ายผู้เลี้ยงปลากระชัง จ.สมุทรสงคราม 9.เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค 10.กลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแพรกหนามแดง 11.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเลตำบลบางกระเจ้า สมุทรสาคร 12.กลุ่มอนุรักษ์มหาชัยฝั่งตะวันออกสมุทรสาคร 13.กลุ่มธนาคารปูม้า ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 14.เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
นายวิเชียร กล่าวว่า วันนี้ยังมีเครือข่ายชุมชนการบริหารจัดการชายฝั่งธรรมชาติป่าชายเลน จ.สมุทรสงคราม ขอความช่วยเหลือสภาทนาย ให้ตรวจสอบ การออกโฉนดให้ บริษัทเอกชน ได้ครอบครองพื้นที่ป่าชายเลนขนาดใหญ่ ต.บางแก้ว จ.สมุทรสงครามว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการบุกรุกป่าชายเลนรุกล้ำพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเครือข่ายชุมชนในการบริหารจัดการชายฝั่ง ที่รับผิดชอบดูแลอยู่ และได้ขึ้นทะเบียนเครือข่ายชุมชนชายฝั่งต่อกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประมาณ ปี พ.ศ. 2551 ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนของ จ.สมุทรสงคราม ที่เหลืออยู่จำนวนน้อย การมีป่าชายเลน จะป้องกันคลื่นเข้ากัดเซาะชายฝั่งและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อให้ทางราชการประกาศเป็นป่าชายเลนอนุรักษ์ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป โดยทางสภาทนายฯจะรับดำเนินการช่วยโดยเร็วที่สุด