“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ตอน 3 นายก อบจ.ทิ้งเก้าอี้ ปฎิบัติการทุบหม้อข้าว หวังเผด็จศึก 'ทัพส้ม'
อยู่ดีๆ ก็มีเหตุการณ์เขย่าสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เกิดขึ้น ภายหลังนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดถึง 3 คน ประกอบด้วย พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง หรือ บิ๊กแจ๊ส นายกอบจ.ปทุมธานี พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ และ นายสุรเชษ นิ่มกุล นายกอบจ.อ่างทอง
เหตุผลถึงการลาออกในครั้งนี้ คือ ในช่วงฤดูฝนที่จะมีน้ำหลากลงมาเป็นจำนวนมาก อาจเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถอนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอาจผิดกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น จึงเลือกที่จะลาออก
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 กำหนดให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน โดยกติกาที่เป็นปัญหาให้นายกอบจ.3 จังหวัด ต้องตัดสินใจลาออกนั้นถูกยกร่างขึ้นมาในสมัยของคสช.ที่ต้องการให้กฎหมายที่คุมการเลือกตั้งท้องถิ่นเข้มข้นไม่แพ้การเลือกตั้งระดับประเทศ จึงกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับประเทศมีความใกล้เคียงกัน
กลายเป็นที่มาของกฎเหล็กที่ห้ามไม่ให้มีการอนุมัติงบประมาณผูกพันในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับข้อกฎหมายที่เป็นประเด็นและส่งผลกระทบนั้นอยู่ที่มาตรา 65 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นหลักการที่กำหนดไม่ให้มีการจูงใจ รวมไปถึงการห้ามไม่ให้ผู้บริหารท้องถิ่นกระทำการอนุมัติโครงการ กิจกรรมใหม่ที่ลักษณะเป็นการจูงใจภายใน 90 วันก่อนครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง
เว้นแต่เป็นโครงการหรือกิจกรรมต่อเนื่องที่กระทำเป็นปกติ หรือเป็นโครงการที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 65 ต้องระวางโทษจำคุก ปรับเงิน และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี เรียกได้ว่าถ้าโดนเข้าไปไม่ต้องได้ผุดได้เกิดกันในทางการเมืองเลยทีเดียว
การลาออกที่เกิดขึ้นของบิ๊กนายกอบจ.สามจังหวัดใหญ่ภาคกลาง ถือว่ามีนัยทางการเมืองพอสมควร กล่าวคือ เป็นการประกาศเพื่อเรียกกระแสในทางการเมือง เป็นเพราะต้องไม่ลืมว่าท้้งสามจังหวัดกำลังถูกปกคลุมด้วยกระแสสีส้มอยู่พอสมควร
ลองไปดูที่จังหวัดปทุมธานี พรรคก้าวไกลได้ส.ส. 6 คนจากทั้งหมด 7 คน จังหวัดอ่างทอง แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 66,558 คะแนนเหนือกว่าพรรคภูมิใจไทยเจ้าของพื้นที่ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่พรรคการเมืองได้ส.ส.ระบบเขตเฉลี่ยๆกันไป แต่ก็ยังเป็นพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากที่สุดถึง 210,202 คะแนน
กระแสความนิยมของคนในพื้นที่ที่ต่อพรรคก้าวไกลถือว่าค่อนข้างแรงพอสมควร ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงคะแนนของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งระดับประเทศที่จะเทไปให้กับคณะก้าวหน้าด้วย หากยังฝืนอยู่ในตำแหน่งนายกอบจ.ต่อไปจนถึงฤดูน้ำหลาก ซึ่งอาจคาบเกี่ยวช่วงเลือกตั้งและเข้าสู่โหมดการถูกจำกัดการใช้อำนาจและงบประมาณ แน่นอนว่าการอยู่ในเก้าอี้แบบนั้นย่อมไม่เป็นผลดีต่อนายกอบจ.ทั้งสามคน
ด้วยเหตุนี้ การลาออกเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าตัวเองมีโอกาสชนะอีกครั้ง จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะคู่แข่งอย่างคณะก้าวหน้าเองก็ยังไม่ทันได้ตั้งตัว อีกทั้งยังมีสมาชิกสภาจังหวัดเป็นฐานเสียงที่เข้มแข็งเป็นแรงสนับสนุนอีก ไม่เพียงเท่านี้ ช่วง 60 วันของการจัดการเลือกตั้งใหม่นั้นจะใกล้กับฤดูน้ำหลากในพื้นที่ภาคกลางพอสมควร ซึ่งหากตัวเองสามารถชนะเลือกตั้งขึ้นมา การใช้อำนาจและงบประมาณในช่วงฤดูน้ำท่วมจะกลับมาสมบูรณ์100%
ดังนั้น ต้องรอดูต่อไปว่าจะมีผู้บริหารท้องถิ่นระดับสูงพื้นที่ใดจะใช้ 'โมเดล3นายก' หรือไม่ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นหนนี้ ดุเดือดมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android