xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ลึกลับซ่อนเงื่อน ล้มเลือก ส.ว.อยู่ยาวต่อท่ออำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 1 พฤษภาคม2567 ตอน ลึกลับซ่อนเงื่อน ล้มเลือก ส.ว.อยู่ยาวต่อท่ออำนาจ



ปกติถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไป จะเป็นการแข่งขันและฟาดฟันระหว่างพรรคการเมืองด้วยกัน โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ทำหน้าที่กรรมการห้ามมวย แต่พอเมื่อเข้าสู่การเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่าจากกรรมการห้ามมวย คราวนี้กกต.กลับกลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง

เวลานี้กกต.กำลังเจอทัวร์ลงอย่างหนัก ภายหลังออกกติกาที่คุมเข้มกระบวนการเลือกส.ว.มากเกินไป โดยเฉพาะการแนะนำตัวของผู้สมัครหรือแม้แต่การรณรงค์ให้คนมาสมัคร ส.ว. ซึ่ง กกต.กำลังมองการเลือกส.ว.ด้วยความหวาดระแวงจนเกินพอดี

อย่างข้อห้ามเกี่ยวกับการแนะนำ จะพบว่ามีลักษณะเข้าข่ายต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ห้ามผู้ประกอบวิชาชีสื่อหรือสายบันเทิงใช้ความสามารถหรืออาชีพคตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว หรือ กรณีการห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวางโปรย หรือ ติดประกาศในที่สาธารณะ รวมไปถึงการห้ามไม่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นักข่าว หรือ สื่อโฆษณาที่เผยแพร่ทางแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ

กติกาบางส่วนของกกต.ที่กำหนดขึ้นมา ถือว่าผิดหลักการในสังคมประชาธิปไตยพอสมควร เพราะเป็นหลักการที่ได้สัดส่วนหรือไม่กับการให้ผู้ประกอบอาชีพที่สนใจสมัครส.ว.ต้องลาออกมา เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องตีความ หรือ การห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์ผู้สมัครส.ว. การดำเนินการลักษณะนี้ของกกต.ไม่ต่างอะไรกับการทำให้กระบวนการเลือกส.ว.กลายเป็นแดนสนธยาที่ไม่ต้องการให้ใครเข้าถึง

แต่ที่คิดว่ากติกาเบื้องต้นกลับหัวกลับหางแล้ว มาเจอกับการออกประกาศที่ห้ามไม่ให้มีการรณรงค์เชิญชวนสมัครส.ว.ยิ่งเป็นการย้อนแย้งมากกว่าเรื่องใดๆ ในเรื่องนี้กกต.อาจมองด้วยความกังวลใจว่าการเคลื่อนไหวของคณะก้าวหน้าหรือไอลอว์อาจเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองไม่มากก็น้อย

แต่เมื่อมองในเชิงหลักการแล้ว กกต.กำลังวางบรรทัดฐานที่ผิดหลักการเสรีประชาธิปไตยพอสมควร เพราะโดยเนื้อแท้ของหลักการแล้ว ควรจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดีในสังคมประชาธิปไตย

แม้ว่าการเลือกส.ว.ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ จะเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2562 จนได้ส.ว.50 คน มารวมกับส.ว.อีก 200 คนตามช่องพิเศษรวมเป็น 250 คน แต่ครั้งนั้นได้มีการดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งต้องผ่านการคัดกรองของคสช.อีก ดังนั้น กกต.ไม่ควรทำให้การเลือกส.ว.กลายเป็นความอึมครึมอีก

อย่างไรก็ตาม จากความอึมครึมและความลักลั่นในกติกาที่กกต.กำหนดขึ้นมานั้นมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ขบวนการล้มการเลือกส.ว. เพื่อเปิดทางให้ส.ว.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่ต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เพื่อขัดขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ภายหลังมีแนวโน้มว่าผู้สมัครส.ว.ชุดใหม่หลายคนมีความปรารถนาอยากจะรื้อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยเฉพาะการแก้ไขในรูปแบบของการให้รื้อทุกมาตรายกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดยไม่จำเป็นต้องตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงความพยายามที่ต้องการให้ส.ว.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่เลือกกรรมการองค์กรอิสระต่อไปก่อน เนื่องจากกรรมการองค์อิสระหลายองค์กรจะทยอยหมดวาระการดำรงตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จากความไม่ชัดเจนในกติกาที่กกต.ออกแบบมาที่กำลังนำไปสู่ต่อการกระทำที่ขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อาจเป็นช่องให้เรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหวังล้มการเลือกส.ว.ทั้งกระดานและให้ส.ว.ชุดนี้ที่เป็นมรดกสุดท้ายของคสช.อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด เพื่อสนองภารกิจบางอย่างต่อไป

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น