ผู้เสียหายคดีหุ้นสตาร์คเฮ หลังอธิบดีอัยการคดีพิเศษ สั่งให้ยื่นศาลขอริบทรัพย์อดีตผู้บริหาร อีกเกือบ 3,000 ล้านบาท หวังนำมาเยียวยาประชาชนที่เดือนร้อน
วันนี้ (29 เม.ย.) นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้า สำนวนคดีการตรวจสอบและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คดีที่นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) กับพวกฉ้อโกงประชาชน ว่า สำนักงานปปง. เคยส่งสำนวนคดีหุ้นสตาร์ค มาให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 16 รายการ มูลค่า 355 ล้านบาท ในความผิดที่เป็นมูลฐานเกี่ยวกับคดีการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกง หรือการกระทำโดยทุจริตตามกฏหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ โดยพฤติกรรมเกี่ยวกับการแต่งบัญชีหรืองบการเงินอันเป็นเท็จ ให้มีมูลค่าสูงกว่าความเป็นจริงเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งประชาชนหลงเชื่อเข้ามาลงทุน อ้างว่าได้รับค่าตอบแทนสูง ช่วงแรกได้ผลตอบแทนสูงตามที่โฆษณาชวนเชื่อจริง แต่เมื่อมีผู้ลงทุนเข้ามามากก็ไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้ เนื่องจากไม่มีผลกำไรอย่างที่ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้ชวน ซึ่งคดีที่ส่งมาครั้งแรก พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของเเผ่นดินไปแล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งตามคดีหมายเลขตามที่ฟ.14/2567 ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่ขอยึดอายัดไว้ชั่วคราวและขอให้ริบตกเป็นของแผ่นดินในครั้งนั้นมีจำนวน 16 รายการมูลค่า 355 ล้านบาท ซึ่งตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการเเละให้คณะกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาและดำเนินคดีในชั้นศาล
จนล่าสุดวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ปปง. ก็ได้ส่งเอกสารพยานหลักฐานต่างๆในคดีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามาให้กับทางสำนักงานคดีพิเศษของเราเนื่องจากว่าสามารถตรวจสอบพบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดในมูลฐานเดียวกันในพฤติการณ์เดียวกันเพิ่มเติมขึ้นมาได้อีก และคณะกรรมการธุรกรรมของ สำนักงาน ปปง. สั่งให้ยึดอายัดไว้ชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 รวมจำนวนทั้งหมด 14 รายการเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท เมื่อรวมทรัพย์สินในคดีเดิมและที่ส่งมาเพิ่มเติมแล้วทั้งสิ้นเป็นเงิน 3,245 ล้านบาท เเต่ในความเป็นจริงค่าเสียหายที่ผู้เสียหายถูกฉ้อโกงจากความผิดมูลฐานดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท (รวมธนาคารที่ปล่อยให้กู้)
ตนในฐานะอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจึงมีคำสั่งให้ส่งเรื่องเพิ่มเติมพร้อมเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมการคณะทำงานชุดเดิม เพื่อพิจารณาพิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ไว้ชั่วคราวตกเป็นของแผ่นดินภายในระยะเวลา 90 วัน นับตั้งแต่ที่มีคำสั่งหยุดอายัดไว้ชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษจะต้องพิจารณาและยื่นคำร้องให้ทันภายในวันที่ 12 พ.ค. 2567
ส่วนจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของผู้เสียหายที่มีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนหรือไม่นั้น ต้องบอกว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้เสียหายใช้สิทธิ์ขอคืนจำนวนเงินความเสียหายที่ได้รับผ่านทางสำนักงาน ปปง.ภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันประกาศราชกิจจานุเบกษาหลังจากที่มีการยึดอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว ซึ่งสำนักงานปปง. จะพิจารณาว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนเท่าไหร่และขอให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ ยื่นคืนให้กับผู้เสียหายตามอัตราส่วนที่ผู้เสียหายแต่ละคนจะได้รับ ซึ่งช่องทางนี้จะต้องยื่นภายใน 90 วัน แต่ถ้าพ้นระยะยื่นที่สำนักงานปปง.ไม่ทัน ผู้เสียหายก็สามารถยื่นผ่านศาลได้โดยตรง ถ้าหากศาลมีคำสั่งให้มีการคืนให้กับผู้เสียหายรายใดเป็นจำนวนเท่าไหร่ หลังจากนั้นเมื่อคดีเสร็จสิ้นสำนักงานปปง. ก็จะคืนให้ตามอัตราส่วนความเสียหายของแต่ละคน ดังนั้นภายหลังคดีถึงที่สุดแล้วก็จะได้รับคืนค่าเสียหาย
ในกรณีที่ยึดอายัดทรัพย์สินได้ไม่เต็มจำนวนของความเสียหายก็ต้องเฉลี่ยกันไปตามอัตรา ซึ่งพนักงานอัยการคดีพิเศษจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าจะขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือให้คืนให้กับผู้เสียหายตามที่ได้ขอคุ้มครองสิทธิ์ผ่านสำนักงานปปง.โดยรวดเร็ว
สำหรับคดีนี้ ในส่วนของคดีอาญาหุ้นสตาร์ค ตอนนี้พนักงานอัยการคดีพิเศษยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไปแล้ว นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย.2567 ทั้งคดีอาญาและคดีฟอกเงินที่เกี่ยวกับการริบทรัพย์สินหรือขอคืนให้กับผู้เสียหาย จะะแยกพิจารณาออกจากกันในแต่ละส่วนในคดีของอาญาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน