xs
xsm
sm
md
lg

พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ “หัวใจสำคัญลดผู้กระทำผิดซ้ำ ต้องฟื้นฟูแก้ไขอย่างจริงจัง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



              “ในอดีต กรมคุมประพฤติ เป็นหน่วยงานทำตามคำสั่งศาล ไม่ได้มองว่าต้องคิดแก้ปัญหาข้างหน้าอย่างไร คือ ทำหน้าที่ของตัวเองไปเรื่อยแต่มันไม่มีวันจบ และมีภารกิจที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม อีกทั้ง กรมฯ ก็ไม่เป็นที่รู้จักในสังคมมากนักเพียงรู้แค่ว่าติดกำไล EM หรือนำผู้ก้าวพลาดไปแก้ไขฟื้นฟูห้ามกระทำผิดซ้ำ”

              พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยว่า เมื่อช่วงปลายปี 2562 ได้ย้ายมาองค์กรแห่งนี้ มีความคิดริเริ่มนำนวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน อาทิ บุกเบิกโครงการ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565 หรือกฎหมาย JSOC (Justice Safety Observation Ad hoc Center). ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค. 2566 ควบคุมกลุ่มผู้พ้นโทษ เคยก่อคดีอุกฉกรรจ์ ใน 7 ฐานความผิด 1.ฆ่าเด็กหรือข่มขืนเด็ก 2.ฆ่าข่มขืน 3.ฆาตกรต่อเนื่อง 4.ฆาตกรโรคจิต 5.สังหารหมู่ 6.ชิงทรัพย์/ปล้นทรัพย์โดยการฆ่า และ 7.นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ จุดเริ่มต้นจากคดี “สมคิด พุ่มพวง” ถือเป็นบุคคลอันตราย ต้องมีมาตรการปกป้องสังคมเพราะอาจหวนก่อเหตุอีกได้ โดยเฉพาะคดีกลุ่ม JSOC ขณะนี้มีราวๆ 20,000 คน ยังไม่ได้รับแก้ไขอย่างจริงจัง เมื่อออกจากเรือนจำต้องติดกำไล EM ตามเฝ้าระวัง 1-2 ปี รวมถึง ชุมชนหมู่บ้านคอยสอดส่องพฤติกรรม ถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ตรวจงานกรมคุมประพฤติ
              โดย กรมคุมประพฤติ เป็นหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ในการสืบเสาะและพินิจ ควบคุมและสอดส่อง พัฒนาทรัพยากรบุคคลกลับคืนสู่สังคม เช่น การสงเคราะห์ การฝึกอาชีพ แก่ผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชน และผู้ที่ได้รับการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษจำคุกทั้งประเทศ ปัจจุบันดูแลคดีทั้งหมดทั่วประเทศกว่า 4.4 แสนคดี เช่น เมาแล้วขับ ลักเล็กขโมยน้อย หรือ ผู้เสพสารเสพติด แต่พนักงานคุมประพฤติมีเพียง 4,000 กว่าคน เป็นคดียาเสพติด ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ถือเป็นผู้ป่วย แต่เมื่อได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนอาการดีขึ้นมักกลับมากระทำผิดซ้ำ และบางคนก็ไม่มารายงานตัวคุมประพฤติจนเกิดปัญหาสังคมตามมา แถมชักชวนผู้เสพหน้าใหม่เข้าวงโคจร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเชื่อว่าคดียาเสพติดจะลดลง

              ส่วนตัวมองว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การบังคับใช้กฎหมาย (law enforcement) และ 2.การแก้ไขฟื้นฟู หรือไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ (Restoration) แต่หลายหน่วยงานทำหน้าที่จับกุมอย่างเดียว มีงบประมาณจำนวนมาก กลับกันการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู มีเพียงไม่กี่หน่วยงานและงบประมาณไม่มาก ส่งผลทำให้คดีไม่ลดเพราะหวนผิดซ้ำก็จะวนเข้ามาสู่การบังคับใช้กฎหมายอีก อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กรมคุมประพฤติสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้และมีองค์กรเอกชนหรือรัฐนำส่งบำบัดฟื้นฟู โดยมีโปรแกรมตามขั้นตอนรักษาจนหาย ผู้กระทำผิดก็จะน้อยลง ภาพรวมจึงอยากให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองมองเห็นความสำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูมากกว่านี้

รูปตอนเรียนเตรียมทหาร แถวหน้าคนที่ 3 จากซ้าย
              สมัยวัยเด็กเกิด จ.ปัตตานี แต่ต้องย้ายตามครอบครัวไปหลายจังหวัด อาทิ ระนอง นครสวรรค์ ตาก เนื่องจากคุณพ่อทำงานไปรษณีย์ ก่อนมาลงหลักปักฐานจริงจังช่วงเรียนมัธยม ร.ร.พิษณุโลกพิทยาคม จนจบชั้น ม.ปลาย ตอนแรกไม่คิดมองงานราชการเลย ส่วนตัวชอบอยากเรียนวิศวะ แต่เมื่อสอบติดโรงเรียนเตรียมทหาร ปี 2527 จึงเลือกเรียนต่อนายร้อยตำรวจ (นรต.41) ร่วมรุ่น พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาการแทน ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร.

ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อน สมัยอยู่ดีเอสไอ
              หลังเรียนจบตำแหน่งแรกเป็น รอง สว.สส. สภ.เมืองภูเก็ต ในปี 2530 และชีวิตข้าราชการตำรวจก็โยกย้ายตามภาระหน้าที่ ทั้งเคยดูงานจราจร งานพิสูจน์หลักฐาน งานความมั่นคงชายแดนใต้ งานแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน เป็นต้น กระทั่งมาอยู่ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ได้รับมอบหมายทำคดีสำคัญ คือ คดีทุจริตแบงก์บีบีซี ดำเนินคดีกับ นายราเกซ สักเสนา กับกลุ่มผู้บริหาร ทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายกว่าหลักหมื่นล้านบาท หรือ คดีเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์การ์ตูน เทปผีซีดีเถื่อนระบาดจำนวนมาก และตำแหน่งสุดท้ายในสีเสื้อตำรวจขึ้นเป็น รอง ผกก.ป. สภ.บางกรวย เมื่อปี 2544

              จากนั้น ปี 2547 ย้ายมาองค์กรใหม่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพราะเริ่มมีครอบครัว ไม่อยากย้ายสถานที่ทำงานไกลบ้านแล้ว อยากอยู่เป็นหลักแหล่ง เทียบโอนเท่ากับ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการ ระดับ ซี 7 กองคดีทรัพย์สินทางปัญญา มีความถนัดเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ เครื่องหมายการค้าลิขสิทธิ์ และก็เติบโตในสายงานตามลำดับเป็น ผบ.สำนักเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ ปี 2555-58 , ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 ปี 2558-60 ทำคดีฮั้วประมูล เอาผิดข้าราชการ นักการเมืองเยอะมาก แต่ก็โดนคู่กรณีฟ้องกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือว่ากลั่นแกล้งบ้าง , ผอ.กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2560-62 ทำคดีบุกรุกที่ดิน เกาะยาว จ.ภูเก็ต ปัจจุบันยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่

เยี่ยมสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดต่างๆ
              ปัจจุบันเหลืออายุราชการ 2 ปี ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา คิดว่าระบบราชการไม่สามารถทำให้ประเทศชาติพัฒนาได้เท่าที่ควร หรือแก้ไขให้สังคมดีขึ้นได้จริงๆ บางกรณีเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้นายทุน กระทบผู้ค้ารายเล็กไปต่อไม่ได้และล้มหายเป็นจำนวนมาก กระทบเศรษฐกิจรากหญ้า จึงต้องแก้ข้อบังคับกฎหมายและกระจายงบประมาณตามความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับผู้นำเป็นคนสำคัญ ถ้าได้คนเก่งถือว่าประเทศชาติจะก้าวหน้าได้เยอะ

จิบชาตราชั่ง

กิจกรรมสังสรรค์ เป็นมือกีต้าร์ให้กับวงดนตรี
กำลังโหลดความคิดเห็น