“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 24 เมษายน 2567 ตอน แผนเหลี่ยมจัด ปฏิรูปกองทัพ เปิดทางการเมืองล้วงลูก
กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยและกองทัพถือว่าต่างเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ากองทัพได้รัฐประหารล้มนายกรัฐมนตรีจากครอบครัวชินวัตรมาแล้วถึงสองคน พอมาถึงวันที่สถานการณ์และบริบททางการเมืองเปลี่ยนไป ภายหลังเกิดขบวนการสีส้มขึ้นมา ทำให้พรรคเพื่อไทยและกองทัพที่ต่างเป็นครู่อริกันมาก่อนต้องจับมือกัน เข้าตำราศัตรูของศัตรู คือ มิตร พอดิบพอดี
งานการเมืองเป็นภารกิจที่กองทัพไม่ได้มีความถนัดเหมือนกับการรบในสมรภูมิ ทำให้ต้องหวังพึ่งกำลังทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยเพื่อสู้กับพลังของสีส้ม ทว่ามาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยกำลังตลบหลังกองทัพหรือไม่ หลังจากมีแนวคิดในการเสนอกฎหมายเพื่อสกัดการรัฐประหาร ตามแนวความคิดของ 'บิ๊กทิน' สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ภายใต้หลักการที่ว่าด้วยการป้องกันการรัฐประหารนั้นจะเป็นการดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปกองทัพผ่านการแก้ไขกฎหมายจำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร ทั้งนี้ หลักใหญ่ใจความอยู่พระราชบัญญัติฉบับแรก ซึ่งเน้นไปที่การกำหนดกระบวนการแต่งตั้งนายทหารระดับชั้นนายพล
ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ต้องการรื้อมาตรา 25 ซึ่งว่าด้วยการแต่งตั้งนายพลที่กฎหมายปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการให้ทหารเป็นเขตปลอดการเมืองมากที่สุด โดยเฉพาะไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองขึ้นมาเป็นผู้ชี้ขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเหมือนที่ผ่านมา
แต่มาเวลานี้พรรคเพื่อไทยกลับเลือกที่จะเล่นของร้อนด้วยการเอามือเข้าล้วงกองทัพภายใต้วาทกรรมที่สวยหรูว่าเพื่อป้องกันการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดคุณสมบัติของนายทหารที่จะขึ้นมาเป็นนายพลที่ไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลและเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในกระทรวงกลาโหม และการไม่อยู่ในระหว่างการสอบสวนทางวินัย แต่ที่หนักที่สุดเห็นจะเป็นการมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันทีทีเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลัง ทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ
ประเด็นเรื่องการกำหนดคุณสมบัตินายทหารชั้นนายพลยังพอทนถูไถไปได้ แต่กับการให้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งพักราชการนายทหารที่เตรียมใช้กำลังดังกล่าว ถือว่าล้ำเส้นมากเกินไปพอสมควร เนื่องจากในทางปฏิบัตินายทหารที่จะมีอำนาทำเช่นนั้นได้ต้องเป็นระดับผู้บัญชาการกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเพียงเฉพาะผู้บัญชาการทหารบกคนเดียวเท่านั้นที่มีศักยภาพพอที่จะลงมือได้ อีกทั้งในความเป็นจริงจะวางหลักเกณฑ์อย่างไรว่าการกระทำเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการเตรียมรัฐประหาร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่จะตามมา
การที่รัฐบาลจะล้ำเส้นแบบนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการพยายามจะเข้ามามีอำนาจต่อรองในการเลือกผู้บัญชาการเหล่าทัพเช่นกัน จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ทหารเป็นใหญ่และฝ่ายการเมืองเป็นแค่ไม้ประดับในคณะกรรมการตามมาตรา 25 เท่านั้น
บางฝ่ายอาจมองการเสนอกฎหมายทำนองนี้คงเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าพิจารณากันให้ดีรัฐบาลอาจได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายค้านด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างสมประโยชน์ทั้งคู่ โดยเฉพาะกับพรรคก้าวไกล
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลกล้าเล่นกับไฟแล้ว อาจมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมากกว่าที่คิด
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android