MGR Online - สำนักงาน ปปง. แถลงผลงาน รอบ 6 เดือน ดำเนินการทรัพย์สินกระทำความผิดมูลฐานกว่า 12,160 ล้านบาท แจ้งผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิ
วันนี้ (24 เม.ย.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พร้อมด้วย นายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. และ คณะรองโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงผลการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบ 6 เดือน (พ.ย.2566 - เม.ย.2567) ดำเนินการกับทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกระทำความผิดมูลฐานกว่า 12,160 ล้านบาท
นายเทพสุ เปิดเผยว่า การดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 รวมกว่า 12,160 ล้านบาท จำแนกดังนี้ 1.ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 130 คำสั่ง จำนวน 121 คดี ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องให้ตกเป็นของแผ่นดินรวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 6,713 ล้านบาท 2.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายในความผิดมูลฐานจำนวน 39 คดี รวมมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 5,447 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นคดีฉ้อโกงประชาชน
นายเทพสุ เผยอีกว่า โดยมีรายคดีสำคัญ 1.ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือยักยอกทรัพย์ อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ เช่น รายคดี นายชนินทร์ กับพวก (หุ้น STARK) ยึด/อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าประมาณ 3,244 ล้านบาท , รายคดี นายอภิรักษ์ กับพวก (Forex-3D) ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 258 ล้านบาท 2.ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเครือข่ายใหญ่ เช่น รายคดี นายฮุ้ยหวาง หวัง กับพวก (กลุ่มจีนเทาตู้ห่าว ผับจินหลิง) ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท หรือรายคดียาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 49 ล้านบาท เป็นต้น
นายเทพสุ เผยต่อว่า 3.ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร เช่น รายคดี นายอานันท์ กับพวกและรายกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กับพวก ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 96 ล้านบาท เป็นต้น และ 4.ความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ เช่น รายคดี นายภูมิพัฒน์ฯ กับพวก (อั้ม PSV) ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 617 ล้านบาท และรายคดี นายณัฐวัตร กับพวก (เครือข่ายมินนี่พนันออนไลน์) ยึด/อายัดทรัพย์สินรวมมูลค่าประมาณ 109 ล้านบาท เป็นต้น
ด้าน นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย ปปง. ระบุว่า ส่วนการยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ดังนี้ 1.ผู้ยื่นคำร้องต้องมีสถานะเป็นผู้เสียหายในความผิดมูลฐานที่ระบุจึงจะมีสิทธิยื่นคำร้อง เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและในเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้ยื่นคำร้องต้องพิจารณาว่าพฤติการณ์กระทำความผิดมูลฐานตามที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. นั้น ตรงกับข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายหรือไม่
นายสุทธิศักดิ์ เผยว่า โดยพิจารณาจาก (1) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์การกระทำผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ระบุไว้ในประกาศฯ (2) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช่วงเวลาที่มีการกระทำผิดที่ระบุไว้ในประกาศฯ (3) ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเลขคดีอาญารับคำร้องทุกข์ของพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในประกาศฯ (4) ในคดี Call Center ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ระบุไว้ ในประกาศฯ ตรงกับชื่อบัญชีหรือเลขที่บัญชีธนาคารที่ผู้เสียหายได้โอนเงินไป หรือไม่ (ตรวจสอบได้จากสลิปการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสอบถามจากธนาคารที่ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้ ฯลฯ)
"ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงของผู้เสียหายตรงกับข้อเท็จจริงที่ระบุไว้ในประกาศของสำนักงาน ปปง. แล้วย่อมถือว่าเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิยื่นคำร้องเพื่อขอรับการคุ้มครองสิทธิได้ แต่หากข้อมูลไม่ตรงแล้ว ย่อมไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้"
นายสุทธิศักดิ์ เผยอีกว่า ส่วนกำหนดเวลายื่นคำร้อง เมื่อสำนักงาน ปปง. ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. เพื่อแจ้งให้ผู้เสียหายมายื่นคำร้องแล้ว ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องตามแบบที่สำนักงาน ปปง. กำหนด ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศฯ (ช่วงเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดจะกำหนดไว้ในประกาศฯ โดยชัดเจน) ข้อพึงระวัง กำหนดเวลา 90 วัน ใช้กับทั้งกรณีที่ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาในประเทศไทยและผู้เสียหายมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ หากยื่นเกินกำหนดเวลา 90 วันดังกล่าว ผู้เสียหายจะไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายนี้
อย่างไรก็ตาม ช่องทางการยื่นคำร้อง มี 3 ช่องทางได้แก่ 1.ยื่นด้วยตนเอง ณ สำนักงาน ปปง. หรือสถานที่อื่นที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด 2.ยื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และ 3.ยื่นผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงาน ปปง. กำหนด (จะมีการระบุไว้ในประกาศฯ)