xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ชิงเก้าอี้ ส.ว. 29 นักวิชาการชื่อดัง ตัวตึงต้านระบอบทักษิณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567 ตอน ชิงเก้าอี้ ส.ว. 29 นักวิชาการชื่อดัง ตัวตึงต้านระบอบทักษิณ



การเมืองไทยว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือส.ว.เริ่มมีความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังได้มีการแถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัครส.ว.จำนวน 29 คน นำโดย นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะมีการบอกว่าไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มกันในทางการเมือง แต่ภาพที่ออกมาแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าคนกลุ่มนี้สามารถเข้าไปในสภา แน่นอนว่าจะกลายเป็นฝ่ายค้านในวุฒิสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การประกาศขอกลับมาวุฒิสภาอีกครั้งของนายพนัสถือว่ามีความน่าสนใจพอสมควร เพราะครั้งหนึ่งเคยทำหน้าที่ส.ว.มาแล้วในช่วงรัฐธรรมนูญพ.ศ.2540 โดยเป็นส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในจังหวัดตาก และระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในนามส.ว.นั้นอาจารย์พนัสนับเป็นหนึ่งในกลุ่มส.ว.ที่แสดงออกในทำนองต่อต้านรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในเวลานั้นอย่างเห็นได้ชัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ซึ่งถ้าใครตามการเมืองในช่วงนั้นจะพบว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญฯชุดนี้ ถือเป็นคณะกรรมาธิการในสภาไม่กี่คณะที่เดินหน้าตรวจสอบความไม่โปร่งใสของรัฐบาลเวลานั้นอย่างจริงจัง

แต่ภายหลังการรัฐประหาร 2549 บทบาทของนายพนัสในเวทีฝ่ายนิติบัญญัติก็เงียบหายไป เหลือแค่เพียงการแสดงความคิดเห็นทางกฎหมายตามเวทีเสวนาวิชาการเท่านั้น ต่างจากคนอื่นในเครือข่ายต่อต้านระบอบทักษิณที่ได้รับตำแหน่งทางการเมือง

นายพนัส ยืนยันถึงวัตถุประสงค์ของการลงสมัครส.ว.ว่า ไม่ได้มีความมุ่งหวัง แสวงหา หรือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง เพียงมุ่งหมายที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อผลักดันและยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่ฝักใฝ่เผด็จการ และไม่ยอมรับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นอกจากนายพนัสที่เป็นหนึ่งในว่าที่ผู้สมัครส.ว.ที่สปอตไลท์สาดส่องแล้ว ขณะที่ คนอื่นๆก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการทั้งสองคนได้เคยร่วมลงชื่อกับกลุ่มภาคประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

หรือจะเป็นในรายของนางสาว คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นอีกคนที่ออกเรียกร้องให้ทบทวนการบังคับใช้มาตรา 112 และเคยเป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จากการร่วมเวทีเสวนาราษฎรพิพากษาเมื่อปี 2564

ส่วนอื่นๆ ที่ร่วมเวทีเปิดตัวผู้สมัครส.ว. 29 คน ที่น่าสนไม่แพ้กัน เช่น ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ หรือ ปิงปอง ศิลปินชื่อดัง ซึ่งก่อนหน้านี้แสดงจุดยืนต้อต้านรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ‘ หทัยรัตน์ พหลทัพ’ บรรณาธิการบริหาร เดอะอีสานเรคคอร์ด ที่ระบุว่าตัวเองถูกฝ่ายความมั่นคงติดตามมาตลอด

ถ้ามองโอกาสที่ผู้สมัครส.ว.ในกลุ่มนี้จะเข้าไปทำงานในสภาได้ ถือว่ามีเส้นทางวิบากพอสมควร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่ากติกาในการได้มาซึ่งส.ว.ผ่านระบบการเลือกไขว้ข้ามกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ มีความซับซ้อนพอสมควร อีกทั้งยังอาจต้องเจอกับการบล็อคของฝ่ายการเมืองทุกสีเสื้อที่เตรียมขนคนของตัวเองลงอย่างเต็มที่ เพื่อช่วงชิงฐานอำนาจในสภาสูง เพราะวุฒิสภาจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคต

ด้วยกติกาเช่นนี้ ถ้าไม่มีมือที่มองไม่เห็นจากฝ่ายการเมืองแล้ว โอกาสจะได้เข้าสภาย่อมยากเต็มที

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น