เปิดรายละเอียดคำพิพากษา คดีพันธมิตรฯ ชุมนุมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ปี 51 ชุดที่ 2 ชี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพื่อต่อต้านรัฐบาล “สมชาย” ต่อเนื่องมาจากรัฐบาล “สมัคร” ที่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างความผิดให้ “ทักษิณ” ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายหรือจงใจให้เกิดความเสียหายต่อสนามบิน แม้จะกระทบกระเทือนต่อผู้ใช้ท่าอากาศยานบ้าง แต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา
วันmuj 29 มีนาคม 2567 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาคดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จำเลยกลุ่มที่ 2 หมายเลขดำ อ.1087 /2556 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ฟ้องนายสุริยันต์ ทองหนูเอียด,นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ,น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์,นายการุณ ใสงาม, นายวีระ สมความคิด, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์,น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค หรือจอย อดีตนักแสดงชื่อดัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ร่วมกับพวกรวม 67 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันชุมนุมปลุกปั่นยุยงก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ
โดยมีคำพิพากษาสำคัญ ดังนี้
กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 พ.ย.- 3 ธ.ค.2551 พวกจำเลยที่ 1-14 ได้ร่วมกันชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมใหญ่โดยกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอยู่ในความดูแลของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. และนำจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยไปติดตั้งใกล้เครื่องรับสัญญาณเรดาร์ ของบริษัท วิทยุการบินฯ ปิดกั้นสะพานกลับรถ ตรวจค้นตัว จนท.บริษัทการบินไทย ร่วมกันขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลและทรัพย์สิน ทำลายทรัพย์สินของบริษัท ของท่าอากาศยานไทยฯ เสียหาย 627,080 บาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง
ซึ่ง นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด จำเลยที่ 1 กับพวกทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และได้ประกันตัวสู้คดี
ในวันนี้จำเลยมาฟังคำพิพากษา มีเพียง พล.ร.ต.มิ้นท์ กลกิจกำจร จำเลยที่ 7 ป่วยมาไม่ได้ และ นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย ที่ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ ต้องวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มาจากโรงพยาบาล ขณะที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล จำเลยคดีชุมนุมสนามบินอีกสำนวนที่ศาลยกฟ้องแล้ว และญาติจำเลยจำนวนมากต่างมาให้กำลังและติดตามคำพิพากษา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 67 คน เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การชุมนุมของจำเลยทั้ง 67 คน ในช่วงวันที่เกิดเหตุตามฟ้องเป็นการชุมนุมโดยชอบหรือไม่
เห็นว่า ความเป็นมาของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรรวมถึงจำเลยทั้ง 67 คนนั้น มีสาเหตุจากกลุ่มพันธมิตรฯ มาร่วมกันชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีตามลำดับ เพื่อคัดค้านการกระทำที่ทุจริตหลายประการของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อนายสมัครเข้าเป็นนายกรัฐมนตรีได้ประกาศตนอย่างชัดแจ้งต่อสื่อสาธารณะว่า ตนเป็นตัวแทนของนายทักษิณ และประสงค์ที่จะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 237 และมาตรา 309 เพื่อช่วยเหลือนายทักษิณและพวกพ้องให้พ้นจากการตรวจสอบในคดีทุจริตหลายคดี ทำให้มีประชาชนหลายฝ่ายไม่พอใจ นอกจากนี้ยังมี รมว.กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลนายสมัครได้ลงนามตกลงให้กัมพูชานำที่ดินรอบเขาพระวิหารไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว
เมื่อนายสมชายได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสมัคร ประชาชนหลายภาคส่วนเชื่อว่านายสมชาย จะยังคงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวและมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติการณ์ทุจริตในเชิงนโยบายเช่นเดียวกับนายทักษิณ เนื่องจากนายสมชายมีฐานะเป็นน้องเขย ซึ่งหากมีการแก้ไขมาตรา 237 สำเร็จจะเป็นผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวม 111 คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง สามารถกลับมาลงเลือกตั้งได้ และหากมีการแก้ไขมาตรา 309 สำเร็จ จะเป็นผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ถูกยกเลิกไป
ซึ่งก่อนหน้านั้นนายทักษิณได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจไปแล้ว 2 แห่ง คือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) โดยแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทมหาชน ทำให้ทรัพย์สินของประเทศซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจให้กลายเป็นของบริษัทมหาชน หมายถึงเอกชนเข้ามาถือหุ้นในองค์กรได้ ซึ่งสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์รวม 40 แห่งคัดค้านนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2542 แต่นายทักษิณมีนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่างๆ ให้เป็นบริษัทมหาชนอีก สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ลงความเห็นว่า การแปรรูปดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่ประเทศ จึงมาเข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล
นับว่านโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาลในช่วงที่เกิดเหตุสร้างความไม่พอใจและความหวาดระแวงเกี่ยวกับการทุจริตหลายกรณีแก่ประชาชนหลากหลายอาชีพ หลายภาคส่วน จึงมีประชาชนจำนวนมากมาร่วมกันชุมนุมเพื่อโต้แย้งคัดค้านการทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้น
ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. พบว่า นายทักษิณนายกรัฐมนตรี มีส่วนได้เสียในสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขายที่ดินกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่นายทักษิณนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแล และอัยการสูงสุดได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลพิพากษาว่านายทักษิณซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้รับมอบความไว้วางใจให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชนแต่กลับกระทำความผิดฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตามจริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งอันสำคัญยิ่งนี้ จึงให้ลงโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.10/2550
และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส.โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าขณะนายทักษิณดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือบริษัทชินแซทเทลไลท์จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยกับพวกได้รับประโยชน์ในผลของการประกอบกิจการ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่า เป็นการกระทำอันเข้าลักษณะของการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นที่มีความทับซ้อนกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมของผู้มีตำแหน่งหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้ จึงเป็นความผิดให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.4/2551
และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่านายทักษิณนายกรัฐมนตรีว่า ได้ร่วมมีมติในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินงานซึ่งเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของเจ้าพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ลงโทษจำคุก 2 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.10/2552
และคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่านายทักษิณนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการเกี่ยวกับโทรคมนาคมของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเกี่ยวกับภาษีของกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เข้ามีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคมด้วยการสั่งการตามอำนาจหน้าที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าสัมปทานในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นภาษีสรรพสามิตเพื่อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ปฯ ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่านายทักษิณมีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมให้ลงโทษจำคุก 5 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่อม.5/2551
และอัยการสูงสุด ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองริบทรัพย์สินของนายทักษิณ ที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่านายทักษิณปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีกระทำการต่างๆอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯและบริษัทในเครือจนได้รับประโยชน์ที่มีผลมาจากการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงให้เงินจำนวน 46,373,687,454.70 บาทพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อม.1/2553
นายทักษิณเดินทางหลบหนีออกไปนอกราชอาณาจักรกว่า 15 ปี แล้วเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ขณะมีอายุ 74 ปี เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา โดยถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี คดีที่ 1 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี คดีที่ 2 คดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี และคดีที่ 3 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 กำหนดโทษจำคุก 5 ปี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี รับโทษมาแล้ว 10 วัน เหลือโทษจำคุก 7 ปี 11 เดือน 20 วัน อยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งความทราบผ้าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปีตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชนสืบไป
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า พันตำรวจโททักษิณมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติการณ์ทุจริตในเชิงนโยบายสร้างความเสียหายแก่ประเทศ ตรงตาม วัตถุประสงค์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และจำเลยทั้ง 67 คนที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อต่อต้านรัฐบาล และโต้แย้งคัดค้านการทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลในขณะนั้นซึ่งตาม มาตรา 32 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น มาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ดังนั้น ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุม เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพื่อแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ โดยต้องเป็นการชุมนุมโดยสงบไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและปราศจากอาวุธ คดีได้ความว่า มีการชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551 เรื่อยมา โดยไม่ปรากฎว่าผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธและก่อความวุ่นวายขึ้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ร่วมชุมนุมย่อมต้องถูกห้ามการชุมนุมและถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก
สำหรับการชุมนุมในช่วงก่อนเกิดเหตุที่มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ดี การชุมนุมในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 ก็ดี ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 67 และผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ ก่อความไม่สงบอย่างไร วัตถุประสงค์ของการชุมนุมก็เพื่อขัดขวางมิให้นายสมชาย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจัดประชุมคณะรัฐมนตรีที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตลอดจนเข้าท่าอากาสยานสุวรรณภูมิได้
ประกอบกับแกนนำการชุมนุมและพิธีกรที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีในที่ชุมนุมได้กล่าวเน้นย้ำต่อผู้ร่วมชุมนุมตลอดมาว่า ให้ชุมนุมด้วยความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายทำลายทรัพย์สินของทางราชการและห้ามนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ผู้ร่วมชุมนุมมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา
ซึ่งหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัสแขน ขาดขาขาด และมีผู้เสียชีวิตนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แล้วรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ตามรายงานการตรวจสอบที่ 519/2551 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่า การปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจในการสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และเป็นการกระทำที่เกินความจำเป็นอันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน
ทั้งปรากฎว่าศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนและไม่เหมาะสม เจ้าพนักงานตำรวจใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากเกินกว่าที่จะใช้โดยปกติทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเป็นการทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม ดังนี้จึงถือได้ว่ากลุ่มพันธมิตรและผู้ร่วมชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้ง 67 คน มีเสรีภาพในการชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีพยานฐานมานำสืบแสดงออกให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าการชุมนุมที่ทำอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของจำเลยทั้งหกสิบเจ็ด แต่ละคนนั้นก่อความวุ่นวายและมีอาวุธอย่างไรบ้าง แตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในครั้งก่อนอย่างไร คดีจึงฟังได้ว่า การชุมนุมของจำเลยทั้งหกสิบเจ็ด ในช่วงวันที่เกิดเหตุตามฟ้องเป็นการชุมนุมโดยชอบตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้ง 67 คน กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ซึ่งจะได้วินิจฉัยไปตามคำฟ้องแต่ละข้อดังนี้
คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1087/2552, คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1406/2556, คดีอาญาหมายเลขดำที่ 4199/2557 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 ,จำเลยที่ 53 ถึงที่ 62, จำเลยที่ 66 รวม 5 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116,215,229, 235,362, 364,365, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ (2) พะราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9,10,18 นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำเลยที่ 31 ในอาญาหมายเลขแดงที่ 317/2564 ของศาลอาญา และนับโทษจำเลยที่ 66 ต่อจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3881/2557 ของศาลอาญาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1204/2556, คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1275/2556 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 15 ถึงที่ 25, จำเลยที่ 26 ถึงที่ 44 รวม 8 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116,153/1,153/3,138,139,140,210,215,229,235,309,310,358,362,364,365 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ (3) พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9,10, 18
คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1361/2556 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 45 ถึง ที่ 52 รวม 4 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 229,235,362,364,365, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ (2) พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9,10,18 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1526/2556, คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1559,2556, คดีอาญาหมายเลขดำที่ 2128/2558 โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 63 ถึงที่ 65, จำเลยที่ 67 รวม 3 กระทง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215,226,235,362,364, 365, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ (2) สำหรับ จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 14 , จำเลยที่ 53 ถึง ที่ 62, จำเลยที่ 66 ที่ตามฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
และสำหรับจำเลยที่ 15 ถึง ที่ 25, จำเลยที่ 26 ถึงที่ 44 ที่ตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินก่อการร้าย และช่องโจร อันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 153/1,153/3,210 นั้น
เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 44, จำเลยที่ 53 ถึงที่ 62 , จำเลยที่ 66 และกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชุมนุมเพื่อโต้แย้งคัดค้านการทำงานของรัฐบาลและคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งฝ่ายจำเลยเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลกระทำเพื่อช่วยเหลือพวกพ้องที่มีพฤติการณ์ทุจริตหลายประการ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 44, จำเลยที่ 53 ถึง ที่ 62, จำเลยที่ 66 กระทำเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มพันธมิตรหรือกลุ่มของจำเลยเอง หากแต่จำเลยจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 44, จำเลยที่ 53 ถึง ที่ 62,จำเลยที่ 66 เชื่อว่ารัฐบาลในขณะเกิดเหตุมีพฤติการณ์ทุจริตและไม่ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ทั้งเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ดังนั้นจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 44,จำเลยที่ 53 ถึง ที่ 62, จำเลยที่ 66 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, 153/1, 153/3, 210
สำหรับจำเลยทั้งหกสิบเจ็ดที่ตามฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเพื่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อดัดแปลงเป็นเวทีปราศยเป็นยานพาหนะนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหลายพันคนบุกรุกเข้าไปในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีกระบอง ท่อนไม้ และธงที่มีด้ามเป็นวัตถุของแข็งปลายแหลมจำนวนหลายอันเป็นอาวุธบุกรุกปิดล้อมอาคาร VIP ซึ่งเป็นอาคารที่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีใช้เป็นสถานที่ทำการรัฐบาลเป็นทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีผู้เสียหายที่ 1 แล้วปิดล้อมอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมืองดังกล่าวโดยนำรถยนต์บรรทุก 6 ล้อจอดปิดกั้นขวางทางจราจรด้านหน้าอันเป็นพื้นที่จราจรในบริเวณท่ากาศยานดอนเมืองซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2
ทั้งยังบุกรุกขึ้นไปบริเวณชั้นดาดฟ้าของอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมืองที่มีเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ตรวจอากาสยานติดตั้งและทำงานอยู่โดยเอาจานรับสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยกับพวกและของกลุ่มผู้ชุมนุมไปติดตั้งไว้ใกล้กับเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เสียหายที่ 3 ส่งผลให้สัญญาณรับส่งสัญญาณเรดาร์ต้องขัดข้องสะดุดลงไปชั่วขณะ
และได้นำเอายางรถยนต์ ลวดหนาม แผงเหล็กจำนวนมากไปวางปิดกั้นสะพานกลับรถบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตขาออก ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ผู้เสียหายที่ 5 ทำให้รถของประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้สัญจรได้ โดยห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าไปภายในบริเวณที่มีการชุมนุมดังกล่าวได้ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่พนักงานของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 5 ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ให้บริการได้ และทำให้การบริการสื่อสารทางไปรษณีย์ต่างๆ ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ผู้เสียหายที่ 6 ต้องหยุดชะงักการให้บริการด้วยเช่นกัน ทำให้อาคารสำนักงานและทรัพย์สินภายในท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งเป็นของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 6 ได้รับความเสียหาย
ต่อมาได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปชุมนุมที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบริเวณทางยกระดับของท่าอากาศยาน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายใช้กระบอง ท่อนไม้ ไล่ตีทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจกองร้อยควบคุมฝูงชนที่ตั้งด่านจุดสกัดบริเวณทางแยกยกระดับดังกล่าว และปลุกระดมประชาชนทั่วไปและให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารชั้น 4 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อกดดันไม่ให้เครื่องบินที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่กลับจากประเทศเปรูลงจอดที่สนามบินทำอากาศยานสุวรรณภูมิได้
อันเป็นความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุก ทำให้ทางสาธารณะที่ขึ้นลงอากาศยานน่าจะเกิดอันตราย ทำให้การสื่อสารสาธารณะทางไปรษณีย์ ทางวิทยุขัดข้อง ทำให้ร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการการขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 229, 235, 358, 362, 364, 365,พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ. 2521 มาตรา 6 ทวิ (2) นั้น
เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานรวมสี่ครั้ง โดยอ้างพยานบุคคลรวม 964 ปาก แต่นำสืบพยานบุคคลได้เพียง 96 ปาก โดยสามารถแบ่งตามเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
1. กลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคลากรบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง จำนวน 20 ปาก
2. กลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคลากรบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 20 ปาก
3. กลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 19 ปาก
4. กลุ่มประชาชนทั่วไป ทั้งผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้า ผู้ขับรถแท็กซี่ รถประจำทางพนักงานประจำรถ ผู้เข้าร่วมชุมนุม จำนวน 16 ปาก
5. กลุ่มสื่อมวลชน และผู้ให้ความเห็น จำนวน 3 ปาก
6. กลุ่มเจ้าพนักงานตำรวจชุดสืบสวน จำนวน 9 ปาก
7. กลุ่มพนักงานสอบสวน จำนวน 9 ปาก
ซึ่งจากคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งหมดที่ปรากฎ ได้ความแต่เพียงว่า มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น โดยตามทางนำสืบของโจทก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า จำเลยทั้งหกสิบเจ็ด ได้ยุยงปลุกปั่น ให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายให้เกิดการโกลาหลชุลมุนขึ้นในบริเวณที่เกิดเหตุอย่างชัดแจ้งแต่อย่างใด
คงมีแต่พยานโจทก์กลุ่มที่ 1 บริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองปาก นางพัชรา พรยุทธพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานดอนเมืองที่เห็นจำเลยที่ 15 และที่ 27 ร้อยตำรวจตรีถาวร ใจมั่น และร้อยตำรวจตรี สุนันท์ เทียมรัตน์ ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น ที่เห็นจำเลยที่ 21 และที่ 63 พันตำรวจเอก รุ่งชาติ รุ่งทอง พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ที่เห็นจำเลยที่ 15 และที่ 64 พันตำรวจเอก อุดร แก้วสุขศรี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ที่เห็นจำเลยที่ 53 บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง
และคงมีแต่พยานโจทก์กลุ่มที่ 2 บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปาก นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เห็นจำเลยที่ 15 และที่ 27 นาวาอากาศโทมัธยัณท์ ไกรสรทองศรี ผู้อำนวยการส่วนงานตระเวนระงับเหตุ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เห็นจำเลยที่ 26 นายโกศล สาตร์สวัสดิ์ และนายศักดิ์ศิลป์ เปรมาสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษส่วนตระเวนระงับเหตุ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เห็นจำเลยที่ 15 ,ที่ 26 ,ที่ 27 และที่ 54 นางมนฤดี เกตุพันธ์ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เห็นจำเลยที่ 15 และที่ 16 นายจิณณวัตร เงินยวง และเรืออากาศเอก วินัย รังสิยีรานนท์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่เห็นจำเลยที่ 15 และที่ 26 นาวาอากาศเอกโชคชัย สภานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหาร บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยฯ ที่เห็นจำเลยที่ 26 จ่าสิบตำรวจ ราเชษฐ์ จำปี เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ที่เห็นจำเลยที่ 26 จ่าสิบตำรวจหญิง ธนกร เกตุสมพงษ์ ผู้บังคับหมู่ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ที่เห็นจำเลยที่ 15 พันตำรวจโท สญชัย เอมประดิษฐ์ เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจภูธรพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่เห็นจำเลยที่ 15 และพันตำรวจโท เกียรติศักดิ์ มารศรี สารวัตรสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดอ่างทอง ที่เห็นจำเลยที่ 15 บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เท่านั้น
โดยข้อเท็จจริงกลับปรากฏจากคำเบิกความของพันตำรวจเอก อุดร แก้วสุขศรี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองในขณะเกิดเหตุว่า ความวุ่นวายที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเริ่มเกิดขึ้น ครั้งที่ 1 เมื่อพันตำรวจเอก พัชร บุญญสิทธิ์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 เข้าไปในบริเวณที่มีการชุมนุมที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา 17.15 น. จนกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ไล่พร้อมขว้างปาสิ่งของต่างๆ ครั้งที่ 2 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551 เวลา 16.40 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานดอนเมือง ครั้งที่ 3 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2551 เวลา 03.50 น. มีผู้ใช้ระเบิดเอ็ม 26 ขว้างบริเวณประตูทางเข้าสนามบินดอนเมืองประตู 6 ริมถนนวิภาวดีรังสิต ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ ครั้งที่ 4 วันที่ 2 ธันวาคม 2551 เวลา 00.05 น. เกิดเหตุคนร้ายยิงระเบิดเอ็ม 79 จากดอนเมืองโทลเวย์เข้าไปในอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและมีผู้เสียชีวิต 1 คน
เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ส่วนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ก็สืบเนื่องมาจากกลุ่มผู้ชุมนุมต้องการเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวกั้นผลักดันเอาไว้ จึงเกิดการกระทบกระทั่งกันจนได้รับบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมแต่ละคนซึ่งในการต่อสู้ตอบโต้เจ้าหน้าที่ของผู้ชุมนุมแต่ละคนดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งหกสิบเจ็ดคนใดเป็นผู้สั่งการหรือใช้ให้กระทำการต่างๆ ตามที่กล่าวมาในฟ้อง
ทั้งโจทก็ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยทั้งหกสิบเจ็ดเป็นตัวการในการต่อสู้ตอบโต้เจ้าหน้าที่หรือมีพฤติการณ์ดังกล่าว ที่พันตำรวจโท อดิศักดิ์ ละม่อม พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง พันตำรวจโท ศิลา ขำเพชร รองสารวัตรตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว พันตำรวจโท พัชยะพัศ อยู่เย็นศิริ และพันตำรวจโท ระวิพันธ์ สุวรรณรัตน์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองลพบุรี พันตำรวจโท ศักย์ศรณ์ วรรณประเสริฐ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบางพลีน้อย จังหวัดสมุทรปราการ เบิกความทำนองเดียวกันว่า มีการบันทึกเหตุการณ์การกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไว้
จากการถอดข้อมูลแสดงภาพและคำปราศรัยของจำเลยทั้ง 67 คนแล้ว ปรากฎว่า จำเลยทั้ง 67 คนปรากฎตัวที่ทำเนียบรัฐบาล ท่าอากาสยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บางคนทำหน้าที่เป็นโฆษก เป็นพิธีกรบนเวที กล่าวปราศรัย ร้องเพลง บางคนทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการ์ดกลุ่มพันธมิตร ใกล้ชิดแกนนำนั้น เห็นว่า ลำพังเพียงการกระทำของจำเลยทั้ง 67 คนที่ปรากฎดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า เป็นการก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
นอกจากนี้คดียังได้ความจากคำเบิกความของนายสุรพล บานชื่น สังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้เสียหายที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ท่าอากาศยานดอนเมือง และนายพงษ์ศักดิ์ ศิริวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักรักษาความปลอดภัย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีผู้เสียหายที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลสถานที่และความปลอดภัยในทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันเกิดเหตุวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา 13.00 น. ขณะปฏิบัติหน้าที่ อยู่ที่อาคาร VIP ท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งใช้เป็นห้องทำงานของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีชั่วคราว มีผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ามาที่ห้องประชุมของคณะรัฐมนตรี โดยไม่ได้ทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
สำหรับบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 ได้ความจากคำเบิกความของนายวุฒิชัย สิงหมณี รองอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ กระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการบินพลเรือน ตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ 2497 และความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 ว่า ภายหลังจากมีการยุติการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ได้มีการประสานมาที่กรมการขนส่งทางอากาศเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยในการเดินอากาศ จึงแบ่งคณะทำงานออกเป็น 2 ชุด ชุดที่ 1 ตรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชุดที่ 2 ตรวจท่าอากาศยานดอนเมือง โดยใช้เวลาตรวจสอบ 2 วันซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ เนื่องจากอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยการเดินอากาศไม่ได้รับความเสียหาย และมีความปลอดภัยในการเดินอากาศดังกล่าวเพียงพอตามมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ
สำหรับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ผู้เสียหายที่ 3 ได้ความจากคำเบิกความของ นายสุทธิศักดิ์ เทพตะขบ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ หอบังคับการบินท่าอากาศยานดอนเมือง ว่า หอบังคับการบินไม่ได้รับผลกระทบจากการติดตั้งจานดาวเทียมของกลุ่มผู้ชุมนุม และการติดตั้งจานดาวเทียมของกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ทำให้สัญญาณเรดาร์ของหอบังคับการบินหลักและสำรองเกิดเหตุขัดข้องสะดุดลง สัญญาณเรดาร์ที่ตรวจอากาศยานยังสามารถให้การสื่อสารทางวิทยุได้ตามปกติ
และได้ความจากคำเบิกความของนาวาอากาศเอก โชคชัย สภานนท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของหอบังคับการบินท่าอากาสยานสุวรรณภูมิว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามจะเข้ามาในหอควบคุมการจราจรทางอากาศ แต่เมื่อพยานได้แจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่า การเข้ามาในพื้นที่หอบังคับการบินอาจกระทบกับอุปกรณ์เกี่ยวกับการบินที่มีความละเอียดซับซ้อนซึ่งอาจรบกวนสัญญาณการจราจรทางอากาศกับการบินของอากาศยานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและใกล้เคียงได้และหากเกิดความเสียหายขึ้นจะไม่สามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ตามปกติแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจและได้ออกไปจากพื้นที่บริเวณหอบังคับการบิน โดยไม่ได้ทำให้อุปกรณ์เกี่ยวกับวิทยุการบินและอุปกรณ์อื่นๆ ภายในพื้นที่ได้รับความเสียหาย
สำหรับกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ผู้เสียหายที่ 4 ได้ความจากคำเบิกความของนายนุกูล ใจชื่อ ผู้อำนวยการแขวงการทางกรุงเทพฯ ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ปิดพื้นที่ถนนวิภาวดีรังสิตขาอกและขาเข้า แต่ปิดกั้นสะพานกลับรถบนถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณทางเข้าคลังสินค้าและอาคารภายในประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถใช้สะพานกลับรถอีกแห่งหนึ่งบริเวณหน้าฐานทัพอากาศซึ่งอยู่ใกล้กันแทนได้
สำหรับพนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ผู้เสียหายที่ 5 ได้ความจากคำเบิกความนายชูศักดิ์ คัชมาตย์ พนักงานบริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน) ตำแหน่งผู้จัดการกองควบคุมการให้บริการผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่าในระหว่างวันที่ 26 ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551 หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาภายในอาคารผู้โดยสารแล้ว พนักงานยังทำงานได้ตามปกติ แต่เพื่อความปลอดภัยตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย จึงมีคำสั่งให้พนักงานไปทำงานที่ศูนย์ปฏิบัติการภาคพื้น และต่อมามีคำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่อาคารสำนักงานใหญ่ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการทำงานกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ตั้งด่านตรวจหรือสกัดกั้นการทำงานแต่อย่างใด และเมื่อการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมยุติลงในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 แล้วรุ่งขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2551 พนักงานสามารถกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ
สำหรับบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด ผู้เสียหายที่ 6 ได้ความจากคำเบิกความของนายไพโรจน์ อินทร์คง หัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์ดอนเมือง ท่าอากาศยานดอนเมืองว่า มีสิ่งของที่รับฝากตกค้างล่าช้าบ้าง แต่ตั๋วเงินสด ตราไปรษณียากร ธนาณัติและตั๋วแลกเงินที่เก็บรักษาไว้ยังอยู่ครบถ้วนถูกต้องและไม่มีอุปกรณ์ใดได้รับความเสียหาย และได้ความจากคำเบิกความของนายปิยะ บินอุมา หัวหน้าไปรษณีย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้เข้ามาภายในศูนย์ไปรษณีย์ จึงไม่ได้รับความเสียหาย เพียงแต่ไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเท่านั้น
ข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ปรากฎชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมและจำเลยทั้งหกสิบเจ็ดไม่มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและผู้เสียหายทั้ง 6 คนแต่อย่างใด
ดังนั้น จำเลยทั้ง 67 คนจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง บุกรุก ทำให้ทางสาธารณะ ที่ขึ้นลงอากาศยานน่าจะเกิดอันตราย ทำให้การสื่อสารสาธารณะทางไปรษณีย์ ทางวิทยุขัดข้อง ทำให้เสียหายอย่างร้ายแรงต่อสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานที่ให้บริการการบินพลเรือน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, 229,235,358, 362,364,365, พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดบางประการต่อการเดินอากาศ พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ (2)
สำหรับจำเลยที่ 15 ถึง ที่ 44 ที่ตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง ข่มขืนใจและหน่วงเหนี่ยวกับขัง จ.ส.ต.ราเชษฐ์ จำปี ผู้เสียหายที่ 9 จ.ส.ต.วิฑูรย์ เปลรินทร์ ผู้เสียหายที่ 10 ส.ต.อ.โสภิตย์ ชัยพร ผู้เสียหายที่ 11 จ.ส.ต.คุณาวุฒิ เอกทัศน์ ผู้เสียหายที่ 12 จ.ส.ต.พิชิต ร่ายเรือง ผู้เสียหายที่ 13 ด.ต.ประสาน ก้านเหลือง ผู้เสียหายที่ 14 ด.ต.เกรียงไกร บุญธรรม ผู้เสียหายที่ 15 ส.ต.อ.วชิระ เรืองสัจ ผู้เสียหายที่ 16 เจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ และหน่วงเหนี่ยวกักขัง จ.ส.ต. วิเชียร ช่วยพัทลุง ผู้เสียหายที่ 7 รวมถึงนางอุบล ปราโมช ผู้เสียหายที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138,139,140,309,310 นั้น
เห็นว่า โจทก์คงมีแต่ผู้เสียหายที่ 9, ที่ 12,และที่ 13 มาเบิกความเป็นพยานเท่านั้น ซึ่งพยานโจทก์ทั้ง 3 ปากดังกล่าวมิได้เบิกความยืนยันว่า ตัวการที่กระทำการข่มขืนใจห้ามมิให้ปฏิบัติหน้าที่ ต่อสู้ขัดขวางและหน่วงเหนี่ยวกักขังที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คือจำเลยที่ 15 ถึง ที่ 44 เป็นผู้สั่งการอย่างชัดแจ้งหรือใช้ให้ผู้ชุมนุมกระทำการดังกล่าว หากแต่เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนบางกลุ่มที่ตอบโต้เจ้าพนักงานภายหลังจากที่เจ้าพนักงานพยายามผลักดันควบคุมไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเท่านั้น
เช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังว่า จำเลยที่ 15 ถึง ที่ 44 เป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ข่มขืนใจผู้อื่นและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 139,140,309,310
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฟ้องโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 62 และ จำเลยที่ 66 กระทำความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9,10,18 หรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 18 ซึ่งจัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.ในระหว่าง พ.ศ.2549 ถึง 2550 ภายหลังการทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับนี้เป็นกฎหมายไทยฉบับแรกที่เมื่อร่างเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ได้มีการเผยแพรให้ประชาชนทราบและจัดให้มีการลงประชามติเพื่อขอความเห็นชอบ ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผลปรากฏว่าผู้มาลงประชามติร้อยละ 57.81 เห็นชอบด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็สืบเนื่องมาจากภายหลังจากที่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 แล้ว ปรากฏว่าเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอรัปชั่นขนาดใหญ่ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยผู้นำประเทศสามารถใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ละเลยต่อเสียงประชาชนในสังคม จนสร้างปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตยและก่อตัวเป็นวิกฤตการเมือง จึงทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นพฤติกรรมของนายทักษิณ นายกรัฐมนตรีกับพวกที่ทุจริตกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น ห้ามควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎร การทำเอฟทีเอต้องฟังความเห็นจากรัฐสภา เข้มงวดต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและจริยธรรมของนักการเมือง สร้างมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น ซึ่งต่อมาภายหลังปรากฎว่า มีการตรวจสอบและคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. ได้ฟ้องนายทักษิณกับพวกเป็นจำเลยต่อศาล ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่านายทักษิณ นายกรัฐมนตรีกับพวกมีความผิดในหลายคดี ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญได้วางแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยยึดตามแนวการแก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 4 ประการคือ 1.คุ้มครอง ส่งเสริม ขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 2.ลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจประชาชน 3.การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม 4.ทำให้องค์กรตรวจสอบมีความมีอิสระ เข้มแข็ง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความเสมอภาค เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและในการชุมนุมใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน มาตรา 32 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น มาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งคำว่า "สิทธิ" หมายถึง ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้แก่บุคคลในอันที่จะกระทำการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือบุคคลอื่น สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นสิทธิ หมายความว่าเป็นกรณีที่รัฐให้สิทธินั้นแก่ประชาชน โดยรัฐมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามหรือต้องทำให้ประชาชนได้รับสิทธินั้น และคำว่า "เสรีภาพ" หมายถึง ภาวะของมนุษย์ที่ไม่อยู่ภายใต้การครอบงำของผู้อื่น มีอิสระที่จะกระทำการหรือยกเว้นกระทำการตามที่ต้องการ สิ่งใดที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเสรีภาพ หมายความว่า เป็นกรณีที่ประชาชนมีเสรีภาพตามที่กำหนดนั้น โดยรัฐไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องจัดหาสิ่งที่เป็นเสรีภาพให้ แต่รัฐมีหน้าที่ทั่วไปที่จะงดเว้นการกระทำใดที่จะขัดขวางการมีเสรีภาพนั้น
แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฎว่า ในช่วงเกิดเหตุนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 11 แห่งพระราชการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ดอนเมืองและในเขตท้องที่ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และที่อำเภอบางพลีและอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งต่อมามีการออกข้อกำหนดประกาศห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมณที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปในเขตท้องที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมืองและพื้นที่ต่อเนื่องเขตดอนเมืองกรุงเทพมหานครหรือกระทำการอันใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะในพื้นที่ชุมนุม ห้ามใช้อาคารหรือเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง และบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวจะมีความผิดก็ตาม แต่ความผิดตามข้อกำหนดและบทลงโทษทางอาญาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวถือเป็นกฎหมายมหาชน อันเป็นบทบัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างเอกชนกับรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นอาญาแผ่นดินหรือความผิดต่อแผ่นดิน ที่ผลแห่งการกระทำความผิดย่อมกระทบกระเทือนเสียหายต่อมหาชนส่วนรวม ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของรัฐ
ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวต้องเป็นไปในทางที่ไม่แข็งกระด้าง สามารถยืดหยุ่น ปรับให้สอดคล้องและเป็นธรรมกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้ โดยคำนึงถึงความยุติธรรม โดยไม่ใช้ไปในทางมิชอบ หรือตามอำเภอใจโดยปราศจากเหตุผลของผู้มีอำนาจซึ่งนอกจากจะขัดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองและรับรองไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้ว ยังเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมส่วนรวมด้วย
ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึง ที่ 62 และ จำเลยที่ 66 ซึ่งเป็นประชาชนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งศิลปีน ดารา นักแต่งเพลง นักดนตรี นักร้อง นักแสดง สื่อมวลชน บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ ผู้ประกาศข่าว โฆษก พิธีกรนักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ ทนายความ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่มูลนิธิประธานมูลนิธิ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แพทย์วิศวกร เกษตรกร นักวิชาการ ข้าราชการครู ข้าราชการทหาร ข้าราชการบำนาญ อดีตเอกอัครราชทูต นักการเมือง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรี เจ้าของอู่ช่อมรถ พ่อค้า นักธุรกิจ กรรมการบริษัท ประธานบริษัท และที่ปรึกษาบริษัทเอกชนที่รวมตัวของตนเอง ในภาวะที่บ้านเมืองขาดธรรมาภิบาลไร้ซึ่งหลักนิดิธรรม เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตคอรัปชั่น สร้างความแตกแยกในสังคม และแทรกแซงองค์กรอิสระ โดยเชื่อว่านายสมชายจะยังคงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีนโยบายบริหารประเทศที่มีพฤติการณ์ทุจริตในเชิงนโยบายเช่นเดียวกับนายทักษิณ เนื่องจากนายสมชายมีฐานะเป็นน้องเขย ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จจะเป็นผลให้การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ถูกยกเลิกไป อันเป็นการช่วยเหลือพันตำรวจโททักษิณกับพวก จากการตรวจสอบของ คตส. เกี่ยวกับคดีทุจริตหลายคดี ซึ่งต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ในระหว่างการชุมนุมปรากฎว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 237 ที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์นายกรัฐมนตรีเป็นรองหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีการทุจริตการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ทำให้นายสมชาย ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที ตรงตามเจตนารมณ์ในการพิสูจน์ความจริงของกลุ่มผู้ชุมนุม จนกระทั่งการชุมนุมของจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 62 และ จำเลยที่ 66 ได้ยุติลงและกลุ่มผู้ชุมนุมได้ออกไปจากท่าอากาศยานดอนกันใช้สิทธิเสรีภาพร่วมชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ โดยไม่ได้กระทำเพื่อประโยชน์เมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจนหมดโดยสงบในวันรุ่งขึ้นคือในวันที่ 3 ธันวาคม 2551
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระหว่างพิจารณาคดีนี้ที่ยาวนานถึง 10 ปี ข้อเท็จจริงตามเจตนารมย์ในการชุมนุมทางการเมืองของจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 62 และ จำเลยที่ 66 ก็ได้รับการยืนยันอีกครั้งเมื่อนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 เพื่อรับโทษตามคำพิพากษา โดยยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมรับผิดในการกระทำและมีความสำนึกในความผิด
ดังนี้ แม้ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 62 และ จำเลยที่ 66 จะกระทบกระเทือนต่อประชาชนผู้ใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบ้าง แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง ที่ 44, จำเลยที่ 53 ถึง ที่ 62, จำเลยที่ 66 จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9,10,18 พิพากษายกฟ้อง คืนของกลาง