หมายจับ“บิ๊กโจ๊ก”อาจสร้างบรรทัดฐานใหม่ กระบวนนิติรัฐวอดวาย ต้องออกหมายเรียกถึง 3 ครั้ง ส่อเจตนาเบี่ยงเบนไม่เข้ากระบวนการยุติธรรม
วันนี้( 27 มี.ค.)มีรายงานว่า พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.ได้สั่งการให้ ชุดคลี่คลายคดีในส่วนงานสืบสวนสอบสวน คดีเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ในท้องที่ สน.เตาปูน ให้ทำการหารือถึงแนวทางการขออนุมัติจากศาลเพื่อขอหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ในข้อหาข้อกล่าวหา สมคบร่วมกันฟอกเงิน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน อีกครั้ง เนื่องจากมีตัวแปรสำคัญจากกรณีเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุสิต พรหมสิน ผกก.สส.ภ.จว.สงขลา เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ นายตำรวจคนสนิทของ “บิ๊กโจ๊ก” เพิ่มเติมใน ม.157-ม.149 โดยอ้างว่า พบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับบัญชีม้า เช่นกันกับคดีเว็บพนันของมินนี่ ในท้องที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ
นอกจากนี้ในวันที่ 25 มี.ค.วันเดียวกัน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่กำลังจะตกเป็นผู้ต้องหา ได้ส่ง นายณัฐวิชช์ เนติจารุโรจน์ ทนายความ ไปยื่นหนังสือคัดค้านและขอให้ยุติการสอบสวนเรื่องดังกล่าวต่อ พ.ต.อ.สุรเดช ฉัตรไทย ผกก.สน.เตาปูน โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นการสอบสวนโดยมิชอบ ขอให้รวบรวมสำนวนส่งไปยัง ป.ป.ช. อีกทั้งยังขู่ฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิดกับพนักงานสอบสวนทั้งชุด ในดคี BNK Master ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงทำให้คณะพนักงานสอบสวน ต้องตั้งหลักทำคดีให้มีความรัดกุมและละเอียดรอบคอบมากยิ่งขึ้น
โดยล่าสุดมีการวางแนวทางเอาไว้ว่า อาจจะดำเนินการขออนุมัติหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หรือมีการออกหมายเรียกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งตามกระบวนการยุติธรรม ไม่มีปรากฏมาก่อน ซึ่งทุกๆ แนวทางหลังจากนี้จะต้องมีการนำเสนอหารือกับทีมกฎหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเวลานี้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ล้วนถูกคำสั่งไปช่วยราชการที่สำนักนายก และยังไม่มีท่าทีว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รักษาราชการแทน ผบ.ตร.จะมีทีท่าสั่งการกับเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
สำหรับการเลื่อนออกหมายจับของพนักงานสอบสวน ก็เพื่อไม่ให้เกิดประเด็นข้อต่อสู้ว่า ยังไม่ได้รับหมาย เพราะตัวไม่อยู่หรือไปราชการ และการส่งหมายเรียกที่ถูกต้องตาม ป.วิ อาญา คือส่งถึงตัวผู้ต้องหา สามี ภรรยา ญาติ หรือผู้ปกครอง เมื่อไม่มีคนเหล่านี้รับ ก็ยังถือไม่ได้ว่ามีการส่งหมายเรียก แม้จะมีการให้สัมภาษณ์ว่ารู้จากคนแจ้งให้ทราบ แต่ก็จะเป็นข้ออ้างได้ ซึ่งการส่งหมายเรียกครั้งที่ 2 ผู้ต้องหาพยายามหลบเลี่ยงที่จะไม่เข้าที่ทำงาน ลาไปต่างประเทศ หรือไปราชการต่างจังหวัดเหล่านี้เป็นพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย ซึ่งทางพนักงานสอบสวนถือว่ามีการส่งหมายเรียกแล้ว แต่ผู้ต้องหาเลี่ยง บ่ายเบี่ยงเจตนาไม่อยากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ดังนั้นแนวทางหลังจากนี้ อาจมีการออกหมายเรียกครั้งที่ 3 เพื่อเป็นการตอกย้ำการดำเนินการในครั้งที่ 2 ว่า ผู้ต้องหาจงใจหลีกเลี่ยง ไม่ยอมรับหมาย ไปราชการต่างจังหวัด ไม่ยอมเข้าที่ทำงาน หรืออยู่ระหว่างการลา ซึ่งก็ล้วนไม่เป็นข้ออ้างที่สมเหตุ สมผล และหากพนักงานสอบสวนไปขอหมายจับ ก็จะเป็นเหตุให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจว่า การส่งหมายของ พนักงานสอบสวน ชอบแล้วหรือไม่ เป็นเรื่องที่ ผู้ต้องหา รู้หรือควรรู้ว่า มีหมายเรียกผู้ต้องหาให้ไปพบ พนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่ไม่ยอมไป มีเจตนาหลบหนีหรือไม่ต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจเป็นการการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ให้กับผู้ต้องหาอื่น ๆ ในอนาคตได้ ซึ่งจะทำให้ระบบนิติรัฐ ผิดเพี้ยนไป เพราะคนคนเดียว.