MGR Online - ดีเอสไอ พบเส้นทางการเงินลูกชาย "เฮียเก้า" เอี่ยวส่งออกตีนไก่หลายกลุ่ม เงินสะพัด 20 ล้านบาท พร้อมสอบความสัมพันธ์เหตุใช้นามสกุลพี่ชายนักการเมืองดัง
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ห้องพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ อาคารเอ กรุงเทพฯ นายเกรียงศักดิ์ สุวรรณศรี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ กล่าวเปิดเผยความคืบหน้ากรณีควบคุมตัว นายกรินทร์ ปิยพรไพบูลย์ หรือมิกซ์ อายุ 25 ปี บุตรชายบุญธรรมของนายหลี่ เซิ่งเจียว หรือเฮียเก้า ผู้ต้องหาคดีสวมสิทธิตีนไก่ ว่า นายกรินทร์ เดิมมีชื่อว่า "ปรีชา แซ่จ้าว" ดำเนินธุรกิจต่างๆ แทนบิดาของตัวเอง คือ เฮียเก้า ทั้งยังมีหน้าที่ติดต่อในการนำตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งบรรจุตีนไก่เข้ามาภายในราชอาณาจักรไทย ก่อนนำไปผลิตที่บริษัทในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จากนั้นจะมีการส่งออเดอร์ไปที่ประเทศจีน และประเทศจีนก็จะจ่ายเงินกลับมา ซึ่งประเทศจีนมักสั่งซื้อไม่อั้นและจะมีการจ่ายเงินล่วงหน้า นอกจากนี้ ในช่วงปี 64 พบจำนวนตู้คอนเทเนอร์ที่บรรจุตีนไก่ 200 กว่าตู้
“ทั้งนี้ ยังมีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงไปยังหลายกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องสวมสิทธิตีนไก่ ซึ่งพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้นั้นค่อนข้างชัดเจน มีมูลค่าเงินสูงถึง 20 ล้านบาท เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 ส่วนประเด็นการสอบปากคำจะคล้ายกับเฮียเก้าและเฮียเกียรติ นอกจากนี้ ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างนายกรินทร์และข้าราชการฝ่ายการเมืองด้วย เพราะเขามีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างไรถึงไปใช้นามสกุลของพี่ชายนักการเมืองดัง”
ด้าน พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในคดีพิเศษที่ 59/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ หลังได้แยกสำนวนออกเป็น 10 เลขคดีพิเศษ และได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช. ไปแล้ว 3 สำนวน ส่วนอีก 7 สำนวน ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงพบว่ามี 2 บริษัทที่มีเจ้าหน้าที่รัฐ 3 หน่วยงานเข้าไปเกี่ยวข้อง ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสถานภาพ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริง 2 สำนวนนี้ จะส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ ขณะที่ 5 สำนวนที่เหลือเราจะส่งไปยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ คาดว่าจะเเล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นี้
พ.ต.ต.ณฐพล กล่าวอีกว่า ส่วนคดีพิเศษที่ 126/2566 หรือคดีหมูเถื่อน 2,388 ตู้ เนื่องจากเป็นตู้หมูที่นำเข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และได้นำออกไปจำหน่ายหมดแล้ว ปัญหาคือไม่มีของกลางให้ตรวจสอบ จึงต้องไปดูว่าตู้ที่ถูกนำเข้ามานี้ได้ถูกสำแดงเป็นอะไร เบื้องต้นพบว่าถูกสำแดงเป็นพอลิเมอร์และเนื้อปลาแช่แข็ง ดังนั้น สิ่งที่จะยืนยันได้คือการทำกระบวนการความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากประเทศต้นทาง เพื่อดูใบส่งของ (Invoice) ใบตราส่งสินค้า หรือ Bill of Lading (B/L) ว่าสินค้าแท้จริงคืออะไร
“ในส่วนนี้จะเป็นพยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินการกับกลุ่มผู้นำเข้าได้ ซึ่งกลุ่มผู้นำเข้าก็เป็นบริษัทที่ดีเอสไอเคยดำเนินคดีมาก่อน จำนวน 9 บริษัท โดยมีพฤติกรรมสั่งเข้ามาในปี 2565-2566 และยังมีอีกประมาณ 2 บริษัทที่อาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก ถึงแม้ 9 บริษัทจะเคยถูกดำเนินคดีมาก่อนแล้ว แต่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทได้เหมือนกัน”