ศาลเเพ่ง สั่ง "ส.ต.ต."ซิ่งบิ๊กไบค์ ละเมิดชนหมอกระต่าย เสียชีวิตบนทางม้าลายแยกพญาไท ให้ ชดใช้ค่าเสียหายพ่อ-เเม่หมอ 27.3 ล้านบาท ยกฟ้องสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ 846/2565 ที่นายแพทย์อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล เป็นโจทก์ที่ 1-2ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สิบตำรวจตรีนรวิชญ์ บัวดก จำเลย 1-2
โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีละเมิด ใจความโดยสรุปว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของแพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ผู้ตาย จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จำเลยที่ 2 เป็นข้าราชการตำรวจสังกัดจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้บังคับหมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1บก.อคฝ) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 15.00-16.00น. จำเลยที่ 2 ขณะปฏิบัติหน้าที่รับเอกสารราชการไปส่งให้แก่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์ ออกจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลด้วยความเร็วประมาณ 108 – 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แซงขึ้นหน้ารถคันอื่นในระยะไม่ถึง 30 เมตรก่อนถึงทางม้าลายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงพุ่งชนผู้ตาย ขณะเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ไม่ให้การช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหลังเกิดเหตุประมาณ30 – 60 นาที และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมดูแล กำกับการปฏิบัติงาน และธำรงวินัยของข้าราชการตำรวจ ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 2 ใช้รถจักรยานยนต์ที่ผิดกฎหมายในการปฏิบัติงาน ขับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และไม่จัดให้จำเลยที่ 2 เข้ารับการฝึกอบรมขับรถจักรยานยนต์อย่างปลอดภัย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานจราจร ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนท้องถนน ละเลยไม่จัดทำมาตรการต่างๆที่จำเป็นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุตรงทางม้าลาย อันเป็นผลโดยตรงทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพเป็นเงินจำนวน 539,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 537,505 บาท และค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงินจำนวน 72,266,301 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 72,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองแล้ว เห็นว่า ตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้… (2) ดูแล ควบคุม และกำกับการปฏิบัติงานของข้าราชการตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่น และ มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่ง พรบ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 แบ่งส่วนราชการออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนั้น หน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงหน้าที่โดยทั่วไปที่จะควบคุม กำกับดูแล บังคับบัญชาส่วนราชการและข้าราชการตำรวจในสังกัดจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และนโยบายของจำเลยที่ 1 ในภาพรวม โดยมีผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นควบคุม กำกับดูแล บังคับบัญชาให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตนธำรงไว้ซึ่งวินัยของข้าราชการ การที่จำเลยที่ 2 ไม่ประพฤติตนธำรงวินัยของข้าราชการตำรวจ ใช้รถจักรยานยนต์ผิดกฎหมายไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ไม่มีประกันภัยตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไม่เสียภาษีประจำปี ไม่ติดกระจกมองข้างและขับรถฝ่าฝืนกฎจราจร ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการทางวินัยและพนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับจำเลยที่ 2 ได้ความจากพันตำรวจโทมนตรี ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 ว่า ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ต้นสังกัดจำเลยที่ 2 มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการทางวินัย และได้พิจารณาลงโทษกักขัง 30 วัน ตามสำเนาคำสั่งกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ที่ 10/2565 และพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมว่า ขับรถจักรยานยนต์ไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย ขับรถไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย) นำรถจักรยานยนต์ที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนมาใช้ในทาง นำรถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีมาใช้ในทาง นำรถจักรยานยนต์ที่ไม่จัดให้มีประกันความเสียหายตาม พรบ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาใช้ในทาง ใช้รถที่มีส่วนควบหรือเครื่องอุปกรณ์ไม่ครบถ้วน (ไม่มีกระจกมองข้าง) ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และขับรถจักรยานยนต์ในทางเดินรถในเขตกรุงเทพมหานครโดยใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2ต่อศาลอาญา ศาลมีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ1049/2565 ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง เมื่อพฤติกรรมการขับขี่และใช้รถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 ที่ขาดความสำนึกรู้ผิดชอบ ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาวินัยจราจร และปฎิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ควบคุม เสริมสร้างความประพฤติ และวินัยข้าราชการตำรวจ ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยเข้าร่วมอบรมประชุมกวดขันระเบียบวินัยเกี่ยวกับความประพฤติและระเบียบข้าราชการตำรวจที่หน่วยงานต้นสังกัดจัดขึ้นตามคำสั่งจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจโดยลำพังในการจัดระเบียบจราจร ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการจัดการระบบจราจร โดยมีกระบวนการและขั้นตอนดำเนินงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานจราจรมีหน้าที่ดูแลการจราจร รักษาความปลอดภัยบนท้องถนนให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและนโยบายเป็นหน้าที่โดยทั่วไป หาใช่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบโดยเฉพาะของจำเลยที่ 1 เพียงหน่วยงานเดียว เมื่อเหตุคดีนี้เกิดจากที่จำเลยที่ 2 กระทำละเมิดขับรถจักรยานยนต์ชนผู้ตายถึงแก่ความตายซึ่งเป็นนิติเหตุอันเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อาจให้สัตยาบันเข้ารับเอาผลการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ได้ ดังนั้น จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสอง
ส่วนประเด็นว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดั่งที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิด จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง เหตุคดีนี้เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 2 โดยลำพัง จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 บัญญัติให้ผู้กระทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ในกรณีทำให้เขาถึงตาย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าว
ศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายตามจารีตประเพณีตามความจำเป็นและเหมาะสม ตลอดจนฐานานุรูปของผู้ตายและโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดา เมื่อพิจารณาตารางสรุปยอดค่าใช้จ่าย รายละเอียดค่าใช้จ่าย บิลเงินสด หลักฐานการชำระเงิน และภาพถ่ายงานศพซึ่งมีแขกร่วมงานจำนวนมาก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และผู้บริหารระดับประเทศ ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอื่นๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 331,230 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว กำหนดให้ตามขอ ส่วนค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย เงินบริจาคมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก ค่าไอแพด กระเป๋า รองเท้า และเสื้อผ้าของผู้ตาย ไม่ใช่ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นตามคำขอโจทก์ทั้งสอง จึงไม่กำหนดให้ ส่วนค่าเรือลอยอังคาร โจทก์ทั้งสองไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นเรือของตำรวจน้ำไม่คิดค่าใช้จ่าย จึงไม่กำหนดให้ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้าย การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้จะต้องพิจารณาตามฐานานุรูปของผู้ตายและโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ตลอดจนรายได้ของผู้ตายและระยะเวลาในการให้ความอุปการะเลี้ยงดูหากผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ ขณะเกิดเหตุ โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 64 ปีเท่ากัน มีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 15 ปี ผู้ตายอายุ 33 ปี ประกอบวิชาชีพจักษุแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทาง 2 สาขา อนุสาขาโรคจอตาและวุ้นตา และอนุสาขาโรคภูมิคุ้มกันและการอักเสบ ทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งนายแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2564 ได้รับค่าจ้างเดือนละ 21,000 บาท และเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข (พ.ต.ส.) เดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 31,000 บาท หากอยู่เวรนอกเวลาจะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 1,200 บาท ตามเอกสารหมาย จ.58 หรือ ล.73 และเอกสารหมาย จ.59 หรือ ล.74 ได้ความจากพันตำรวจโท กมินทร์ สว่างจิตต์ ตำแหน่งสารวัตรฝ่ายธุรการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการโรงพยาบาลตำรวจว่า หากผู้ตายได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจในสังกัดโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้มีคุณวุฒิ พบ.วว. สาขาจักษุวิทยา และอนุสาขาจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันและการอักเสบ จะได้รับการแต่งตั้งดำรงตำแหน่ง นายแพทย์ (สบ.1) ชั้นยศว่าที่ร้อยตำรวจตรี และจะได้รับการเลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนสูงขึ้นตามลำดับ นอกจากนั้น ผู้ตายทำงานนอกเวลาที่โรงพยาบาลเอกชนอีก 3 แห่ง มีรายได้เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1,800,000 บาท ถึง 2,400,000 บาท เมื่อมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากขึ้น ก็จะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเป็น 3 ถึง 5 เท่า ซึ่งสอดรับกับคำเบิกความของนายแพทย์อดิศัย วราดิศัย จักษุแพทย์ด้านจอประสาทตาว่า หากแพทย์มีอายุการทำงานมากขึ้น มีชื่อเสียง ทำงานหลายแห่ง จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเดือนละ 300,000 ถึง 500,000 บาทหรือมากกว่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานหักล้างเป็นอย่างอื่น ดังนั้น หากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นตามประสบการณ์และอายุการทำงาน เมื่อคำนึงถึงโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ แม้จะมีรายได้จากเงินเดือน แต่อยู่ในวัยชรา มีปัญหาสุขภาพต้องไปพบแพทย์และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง มีภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวต่อเดือนจำนวนค่อนข้างสูง เห็นสมควรกำหนดค่าขาดอุปการะเลี้ยงดูให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คนละ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีของต้นเงิน 331,230 บาท 13,500,000 บาท และ 13,500,000 บาท ตามลำดับ นับแต่วันทำละเมิดวันที่ 21 ม.ค. 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลจึงพิพากษาให้ จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 331,230 บาทแก่โจทก์ทั้งสอง ชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 1 และชำระเงิน 13,500,000 บาทแก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2565 และค่าทนายความจำนวน 50,000 บาท ให้ยกฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก