xs
xsm
sm
md
lg

รมว.ยธ. มอบโล่เกียรติคุณ "สถานีตำรวจดีเด่น" ช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา-แจ้งสิทธิเยียวยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - พ.ต.อ.ทวี เปิดงาน “ก้าวไปข้างหน้า : การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมฯ” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณแก่สถานีตำรวจดีเด่น และลงนาม MOU แลกเปลี่ยนข้อมูล-ให้ความช่วยเหลือประชาชน

วันนี้ (21 มี.ค.) ณ ห้องประชุม 10 – 09 ชั้น 10 อาคารกระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ก้าวไปข้างหน้า : การช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม โดยความร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ...ในยุคดิจิทัล” พร้อมมอบโล่เกียรติคุณให้แก่สถานีตำรวจที่มีผลการดำเนินงานดีเด่นในการแจ้งสิทธิและรับคำขอผู้เสียหายในคดีอาญา จำนวน 102 รางวัล และเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ระหว่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยมี นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงนามร่วมกับ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และมี นางสุจิตรา แก้วไกร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และ พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา ร่วมลงนามในฐานะพยาน ซึ่งมี คณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คณะผู้บริหารในสังกัดกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นเกียรติ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวเปิดงานฯ โดยระบุว่า งานครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายสำคัญในการนำความยุติธรรมไปสู่ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความเสมอภาค โดยมีกระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งได้รับบความร่วมมือที่ดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแจ้งสิทธิและรับคำขอผู้เสียหาย โดยเฉพาะผู้เสียหายในคดีอาญา เป็นบุคคลที่ถูกอัยการสั่งฟ้องแล้วได้รับการตัดสินจากศาลว่า ไม่ได้กระทำความผิด หรือที่เรียกว่า "แพะ" จนได้รับการเยียวยา ช่วยเหลือตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า จำเลยที่มีกว่า 7 แสนคน ที่ส่วนใหญ่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค พวกเขาไม่รู้สิทธิ์ ในเรื่องที่รัฐต้องมีหน้าที่ดูแล ซึ่งพนักงานสอบสวน จึงเป็นบุคคลแรกในกระบวนการยุติธรรมที่จะได้พบบุคคลเหล่านี้ และได้แจ้งสิทธิของการตกเป็นเหยื่อที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้วันนี้ นับเป็นโอกาสที่ดีในร่วมมือระหว่างกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

"วันนี้ นับเป็นโอกาสที่ดี ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้ยกระดับในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างแท้จริง" รมว.ยุติธรรม กล่าว

พ.ต.อ.ทวี ยังได้เสนอแนวคิดให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นำสำนวนคดีของประชาชนที่เข้าข่าย "คนเป็นเหยื่อ" และ "คนเป็นแพะ" บุคคลที่ศาลยกฟ้อง แล้วส่งต่อให้พนักงานสอบสวน หรือ โรงเรียนนายร้อยตำรวจให้ได้เรียนรู้ความบกพร่องเพื่อเป็นการพัฒนางานสอบสวน ซึ่งสำนวนการสอบสวนเหล่านี้จะถือเป็นตำราที่เขียนจากความตาย ความสูญเสียในเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การทำข้อตกลงในความร่วมมือครั้งนี้ มีภาระกิจสำคัญ 3 ประการ คือ (1) การช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (2) การคุ้มครองพยาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน ในคดีอาญา พ.ศ.2546 (3) การไกล่ข้อพิพาท ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท พ.ศ.2562 โดยมี รมว.ยุติธรรม ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นางสุจิตรา แก้วไกร รองงอธิบดี กคส. , พล.ต.ต.วิทยา เย็นจิต ผู้บังคับการกองคดีอาญา

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาทางวิชาการ ในหัวข้อ " Best Practice การแจ้งสิทธิและรับคำขอช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญา เทคนิคและประสบการณ์ที่ดี รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราบการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565






กำลังโหลดความคิดเห็น