MGR Online - โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิฯ มีความห่วงใยการละเมิดสิทธิเด็ก จากเหตุทำร้ายกัน และเล่นกิจกรรมการถอดเสื้อผ้าของเด็กเล็ก มีผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ
ตามที่มีการเผยแพร่คลิปและปรากฏข่าวเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง กรณีกลุ่มนักเรียนหญิงรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนอย่างรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ และมีกรณีครูให้เด็กอายุ 4 ขวบทั้งชายและหญิงถอดเสื้อผ้าบนเวทีเพื่อทำกิจกรรมแข่งขันการแต่งตัวในกีฬาสีของศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่ง นั้น
วันนี้ (15 มี.ค.) นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทั้งจากกรณีเด็กหญิงรุมทำร้ายเพื่อนจนได้รับบาดเจ็บและถ่ายคลิปเผยแพร่ กรณีดังกล่าวเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทั้งพฤติกรรมที่กลั่นแกล้งด้วยวาจารุนแรงและการรุมทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนด้วยกันจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื้อตัว ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยังการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายด้วย ซึ่งอาจทำให้เด็กนักเรียนที่ถูกกระทำได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและอาจนำไปสู่ภาวะทางจิตใจ เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือแผลในใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยากเข้าใจเพื่อน หรือไม่อยากไปโรงเรียนได้ ดังนั้น โรงเรียน หรือ ผู้ปกครอง ควรให้ความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมของเด็ก และเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมเลียนแบบหรือความนิยมความรุนแรงจากสื่อต่างๆ ขณะเดียวกันต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กที่ถูกรังแกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอื่นตามมาภายหลัง
"ส่วนกรณีการจัดกิจกรรมแข่งขันแต่งตัวโดยให้เด็กถอดเสื้อผ้าในที่สาธารณะนั้น แม้จะเป็นกรณีที่ครูและผู้ปกครองบางคน ไม่มีเจตนาจะทำให้เด็กอับอายและอาจเกิดความสนุกสนานจากกิจกรรมดังกล่าว แต่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของเด็กได้ รวมทั้งการที่ผู้ปกครองและผู้ที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปเด็กเปลือยกาย แล้วนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อในสื่อออนไลน์ อาจกลายเป็นฟุตปริ้นต์ในระบบอินเตอร์เน็ต หรืออาจมีผู้ไม่หวังดีนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องได้"
นายธีรยุทธ กล่าวต่อว่า สิทธิของเด็ก ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นภาคีสมาชิกมากที่สุด และประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้ให้ความสำคัญกับการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็ก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก (The Best Interest of Child) เป็นสำคัญ ไม่ใช่เอาความสะดวกหรือผลประโยชน์ของผู้ใหญ่เป็นที่ตั้ง เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและเข้าถึงการดูแลตามมาตรการต่างๆ มีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ จะต้องไม่ถูกแทรกแซงในความเป็นอยู่ส่วนตัว เด็กมีสิทธิได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ และเด็กมีสิทธิในการมีส่วนร่วม การแสดงออกความคิดเห็นที่มีผลกระทบต่อเด็กและความคิดเห็นนั้นต้องได้รับการพิจารณาตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กนั้นด้วย