xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอาญาคดีทุจริตนัดฟังคำพิพากษา 9 เม.ย.กลุ่มตร. “ฐานละเว้น”กินเลี้ยงบ้านกำนันนก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ศาลอาญาคดีทุจริต นัดฟังคำพิพากษาคดี 9 เมษายนนี้ คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากที่ไปร่วมงานเลี้ยงบ้านกำนันนกที่เป็นข่าวครึกโครม จนมีตำรวจระดับสารวัตรถูกยิงตาย ผู้กำกับเบิ้มต้องจบชีวิตตนเองตามมา เป็นที่สนใจของประชาชน ส่วนกำนันนกก็ถูกฟ้องฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำผิด

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำพิพากษา วันที่ 9 เมษายน 2567 เวลา 09:00 น.นี้แล้ว โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพันตำรวจตรีเกียรติศักดิ์ หรือเกียรติ สมสุข ที่ 1 กับพวกรวม 23 คนเป็นจำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท 206/ 2566 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยในคดีดังกล่าวนี้ นายประวีณ หรือกำนันนก จันทร์คล้าย เป็นจำเลยที่ 22 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในฐานละเว้นในการปฎิบัติหน้าที่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ส่วนจำเลยที่ 17 ถึงที่ 23 เป็นราษฎรถูกกล่าวหาว่าร่วมกับทำผิดกับเจ้าพนักงาน เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ โดยในคำฟ้องของโจทก์กล่าวว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจถูกกล่าวหาว่า ละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่พบเห็นการกระทำผิดซึ่งหน้าไม่จับกุมผู้ร้าย ไม่พยายามทำการจับกุม ไม่พยายามสืบสวนติดตามจับกุม ปล่อยให้นายธนัญชัยหรือหน่องหลบหนีออกไปจากที่เกิดเหตุโดยง่าย ทั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งคนสามารถแย่งคว้าอาวุธปืนจากนายหน่องไว้ได้แล้ว จำเลยบางคนไม่เก็บรักษาอาวุธปืนของกลาง ส่งปืนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นราษฎร ไม่ติดตามนำมาเป็นของกลางเพื่อส่งพนักงานสอบสวนตรวจพิสูจน์ต่อไป ทำให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของกำนันนกนำปืนไปฝังดิน จำเลยบางคนที่เป็นเจ้าพนักงานถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำแห่งหนึ่งที่สนิทสนมที่มาร่วมงานถอดเครื่องเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งในที่เกิดเหตุแล้วให้นำไปทิ้งที่คลองวัดตาก้อง จำเลยบางคนเป็นผู้สั่งทำลายซ่อนเร้นพยานหลักฐาน โดยการสั่งให้เก็บกวาดพื้นที่ปลอกกระสุนปืน ล้างคราบเลือด และเก็บกวาดโต๊ะจีน มีเจตนาช่วยกำนันนกและนายหน่องเพื่อไม่ให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง จำเลยบางคนร่วมกับราษฎรมีเจตนาช่วยกำนันนกในการหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุโดยนั่งรถยนต์ติดตามไปส่งยังบ้านอีกหลัง โดยให้ที่พำนักหรือซ่อนเร้นหรือช่วยกำนันนกเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม จำเลยที่เป็นตำรวจนั่งรถโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ส่วนตำรวจบางคนปรากฏภาพขับขี่รถจักรยานยนต์ทำนองคุ้มกันไปด้วย โดยส่วนใหญ่ตำรวจที่ถูกฟ้องถูกกล่าวหาว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ไม่มีการปิดกั้นหรือป้องกันสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ หรือรวบรวมพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ จนมีการทำลายวัตถุพยาน ไม่อยู่รักษาสถานที่เกิดเหตุเอาไว้เพื่อรอส่งมอบพื้นที่ให้แก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่

เกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ช่วงเวลาบ่ายไปจนถึงกลางคืน จำเลยที่ 22 ซึ่งเป็นกำนันตำบลตาก้อง ได้จัดงานเลี้ยงที่โรงงานผสมคอนกรีต (แพล้นปูน) ในต.ตาก้อง อ. เมืองนครปฐม จ. นครปฐม ที่ทำการของตน โดยเชิญเจ้าพนักงานตำรวจจากหน่วยงาน รวมทั้งประชาชนที่สนิทคุ้นเคยกว่า 50 คน ไปร่วมงานเลี้ยง รวมทั้งพันตำรวจตรี ศิวกรหรือสารวัตรแบงค์ สายบัว และพันตำรวจโท วศิน พันปี ระหว่างงานเลี้ยงกำนันนก มีการพูดขอให้ผู้ตายช่วยโยกย้ายจ่าสิบตำรวจพิศิษฐ์ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นญาติให้ย้ายไปทำงานเป็นสายตรวจรถจักรยานยนต์ พันตำรวจตรี ศิวกร บอกว่าต้องรอเดือนตุลาคมก่อน กำนันนกไม่พอใจ ต่อมามีการท้าดวลกันดื่มสุรา กำนันนกดื่มสู้ไม่ได้ โมโหโกรธพูดจาเสียงดัง มีการพูดจาประชดประชันกัน ทุบโต๊ะวีไอพีกลับไปนั่งที่โต๊ะยาวของแขก ต่อมานายธนัญชัย หรือหน่อง ท่าผา ลูกน้องคนสนิทได้เดินมาหาพูดคุยกันกับกำนันนก จากนั้นนายหน่องเดินไปใช้ปืน GLOCK 19 ยิงสารวัตรแบงค์ 4 นัด ได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลนครปฐม ขณะเดียวกันกระสุนปืนเลยไปถูกพันตำรวจโท วศินได้รับบาดเจ็บ ซึ่งต่อมาชุดตำรวจสืบสวนของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ หักพาล ได้เข้าทำการสืบสวนสอบสวน ระหว่างนั้นพันตำรวจเอกวชิรา หรือผู้กำกับเบิ้ม ยาวไทยสงค์ ได้รับความกดดันจนมีการใช้อาวุธปืนกระทำอัตวินิบาตตน ต่อมาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งการเปลี่ยนชุดพนักงานสอบสวน และโอนคดีไปกองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการแทนโดยเริ่มแรกมีฝากขังจำเลยที่ศาลคดีอาญาทุจริตประพฤติและมิชอบภาค 7 ต่อมามีการขอโอนฝากขังการพิจารณาในส่วนคดีที่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานของรัฐ รวมทั้งราษฎรที่เกี่ยวข้องร่วมกระทำผิด มาฟ้องและพิจารณาที่ศาลอาญาและคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ส่วนความผิดต่อชีวิตที่กำนันนกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งให้นายธนัญชัยหรือหน่อง ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนานั้น คงถูกแยกฟ้องไปดำเนินการที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยศาลกำหนดนัดพร้อมในวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่จะถึงนี้ แต่ในส่วนคดีนี้เป็นคดีประวัติศาตร์ที่กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเป็นจำนวนมากถึง 16 นาย มีราษฎรร่วมกระทำผิดอีก 7 คน โดยเฉพาะจำเลยที่ 22 กำนันนกซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอิทธิพลกว้างขวางในภาคตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐม จึงอยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอันมาก

โดยในคดีนี้ศาลยุติธรรมเองก็ให้ความสำคัญที่จะเร่งรัดในการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพให้ได้รับความเป็นธรรม รวมทั้งตอบคำถามของประชาชนที่จะเห็นความยุติธรรมที่ปรากฏโดยเร็วเป็นคำพิพากษา เป็นการตอบสนองตามนโยบายท่านประธานศาลฎีกา และท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คนปัจจุบัน ที่ต้องการอำนวยความยุติธรรมให้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ สร้างผลงานคดีสำคัญระดับประเทศมากมาย จึงใช้ดุลพินิจเร่งรัดตามกฎหมายย่นระยะเวลาพิจารณาคดีให้กระชับที่สุด สืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้นเกือบ 40 คนหรือปาก ใช้เวลา 3 วันหรือนัด ใช้ระยะเวลาตั้งแต่วันฟ้องจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาใช้เวลาเพียง 5เดือน ทั้งที่เป็นคดีซึ่งมีพยานหลักฐานและจำเลยมีเป็นจำนวนมาก และมีข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องมากมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น