xs
xsm
sm
md
lg

ทนายยื่นไต่สวนค้านฝากขัง "ตะวัน-แฟรงค์" แต่ยอมรับทั้งสองไม่อยากประกันตัว! "ใบตองแห้ง" อ่านแถลงเรียกร้องปล่อยชั่วคราว อ้างข้อหา ม.116 เกินกว่าเหตุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ทนายยื่นไต่สวนค้านฝากขังครั้งที่ 4 พร้อมขอเบิกตัว "ตะวัน-แฟรงค์" ม็อบทะลุวัง เพื่อให้ศาลเห็นกับตาอดข้าว-อดน้ำอยู่ที่โรงพยาบาล ปลอดภัย-แข็งแรงหรือไม่ แต่ระบุทั้งสองคนไม่อยากประกันตัว "ใบตองแห้ง" อ่านแถลงการณ์เรียกร้องปล่อยตัว อ้างข้อหาตาม ม.116 เกินกว่าเหตุ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและกลุ่มทะลุวัง ได้มายื่นคัดค้านการฝากขัง ครั้งที่3 น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร หรือ แฟรงค์ ผู้ต้องหากลุ่มทะลุวัง ข้อหา"ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาและร่วมกันกระทำด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ , ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร

นายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่าอาการของตะวันและแฟรงค์ ไม่ค่อยดี ตนไม่ได้เข้าไปเยี่ยมเป็นอาทิตย์แล้ว แต่ให้ทนายความคนอื่นไปเยี่ยม ทราบว่ามีหลายๆ คนกระแนะกระแหน ว่าทั้ง 2 คนอดข้าวอดน้ําเพื่ออะไร ตนบอกได้ว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องยึดตามหลักการ 3 ข้อ คือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม, ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก และประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน


วันนี้ตนมายื่นไต่สวนคัดค้านฝากขัง ซึ่งตะวันกับแฟรงค์ ถูกแจ้งข้อหามาตรา 116 วรรคสอง คือโทษไม่เกิน 7 ปี ไม่มีโทษขั้นต่ํา และทางศาลรับฝากขัง เพราะตำรวจอ้างว่าสอบพยานไม่เสร็จ จากการไต่สวนครั้งที่แล้วเหลือ พยานอีก 3-4 ปาก วันนี้จะขอเบิกตัว ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน เหตุผลที่เบิกตัวมาทั้งที่เด็กเจ็บป่วย เพราะเราอยากได้ความเห็นจากศาล เนื่องจากการขอประกันตัวครั้งที่แล้ว ศาลก็บอกว่าอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลมีความปลอดภัยแล้วก็แข็งแรง อย่างที่ศาลเชื่อก็คงต้องเบิกตัวมาได้ เพราะการไต่สวนเรื่องนี้ต้องอยู่ต่อหน้าผู้ต้องหาว่าเขาคัดค้านหรือไม่ แล้วตนจะถามว่าทําไมต้องฝากขังต่อ คดีอื่นๆ ได้ฝากขังหรือเปล่า

"ความจริงแล้วต้องเข้าใจว่าการฝากขังนี่คือการเอาตัวมาก่อนที่จะมีการฟ้องศาลซึ่งยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ตรงที่ว่าไม่ให้สิทธิ์เด็กในการประกันตัวน้องสองคน ถ้าศาลไม่รับต่อ ศาลก็ปล่อยตัว ไม่ต้องประกัน แต่ถ้าศาลรับฝากขังไว้ก็คงต้องเป็นไปตามกลไกที่ฝากขังได้ (48 วัน) เพราะเด็กก็ประกาศว่าเขาจะไม่ประกันตัว ถ้าครั้งนี้รับฝากขัง ทางตำรวจคงพยายามขวนขวายไปฟ้องคดี แต่ปัญหาคือการฝากขังไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน บางคดีตํารวจก็ให้ประกันตัวบางคดีก็นำผู้ต้องหาไปฝากขัง" นายกฤษฎางค์กล่าว


นายกฤษฎางค์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตํารวจก็ยอมรับว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 ถ้าไม่ฝากขังไว้เด็กมันก็ไม่ได้หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแล้วก็ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ข่มขู่ใครก็ไม่ได้ แต่ตำรวจก็ยังดันทุรังมาฝากขังและคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ก็ตามใจ แต่ว่าขอให้ทําแบบนี้ทุกคดีก็แล้วกัน

ต่อมา นายอธึกกิต แสวงสุข หรือ “ใบตองแห้ง” สื่อมวลชนอาวุโสเเละนายนภสินธุ์ หรือสายน้ำ (สงวนนามสกุล) ตัวเเทนของ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน ได้เดินทางมายื่นคำแถลงขอให้พิจารณาไม่รับฝากขังและคัดค้านการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวตะวันและแฟรงค์ รวมถึงประชาชนผู้ต่อสู้ทางความคิดรายอื่นอันจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยนายอธึกกิต ออกเเถลงการณ์ระบุว่า เชื่อว่าไม่มีใครอยากย้อนกลับไปอยู่ภายใต้ระบบเก่า และประเทศไทยจะต้องตั้งหลัก จากประชาธิปไตยโดยมีหลักใหญ่ใจความคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและ เชื่อว่าองค์กรตุลาการเป็น เสาหลักซี่งรับประกันความปลอดภัยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้ ดำรงตนเป็นจุดเชื่อมโยงที่ปกปักพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยระหว่างประชาชนกับการปกครอง

ขอยืนยันว่าการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้นเป็นสิทธิของบรรดาผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา การจำคุกกักขังควบคุมบุคคลใดเกินกว่าที่สมควรตามเหตุผลที่กฎหมายกำหนดนั้นจะกระทำมิได้

ด้วยความเคารพต่อศาลอาญาตนเห็นว่าการรับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองในคดีนี้ไว้ไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกไปทั้งที่ทั้งสองมิได้มีพฤติการณ์หลบหนี ยินยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่บริเวณหน้าศาลอาญาและโดยที่ทั้งสองไม่ใช่บุคคลที่จะสามารถเข้ายุ่งเหยิงพยานหลักฐานและกระทำการขัดขวางสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้น เป็นกรณีที่เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรมและต่อตัวเยาวชนทั้งสอง โดยอาจเป็นการด้อยค่าสิทธิมนุษยชนของพวกเขา ในการพิทักษ์รักษากระบวนการยุติธรรมและดำรงไว้ซึ่งระบบอันที่พวกเราผู้ใหญ่และเราเพิกเฉยละเลยต่อการพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนปัญญาชนทั้งหลายเป็นเสาหลักในการปกปักดูแลประชาชนนั้น ไปไม่ได้ และเราต่งเรียนรู้หลักการตามนิติปรัชญาเพื่อนำมาใช้สร้างความเป็นธรรมให้ทุกชนเท่าเทียมกัน

ขอเรียนท่านผู้พิพากษาโปรดพิจารณาไม่รับฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองนี้ต่อไปก็ขอให้ผู้พิพากษาผู้พิจารณาปล่อยชั่วคราวจำเลยและพิจารณาให้ความเป็นธรรมปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทางความคิดทั้ง หลายเมื่อคราวที่ท่านมีอำนาจพิจารณาด้วย

นายอธึกกิต กล่าวต่ออีกว่า สื่อบางสื่อที่สร้างกระเเสให้ทานตะวันเป็นเหมือนเเม่มดจนกดกันให้ตำรวจตั้งหาข้อหาที่ร้ายเเรงมาสนองกระเเสสังคม ทั้งที่จริงดูจากพฤติการณ์การไม่ฟังคำสั่งของตำรวจที่อยู่ท้ายขบวนเสด็จควรจะเป็นเเค่ความผิดจราจรเท่านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อราชวงศ์ ตนมองว่าการตั้งข้อหา 116 เป็นการตั้งข้อหาที่เกิดกว่าเหตุ ดูจากพฤติการณ์คือเด็กทั้งสองออกรถก่อนที่ตำรวจจะอนุญาตตำรวจก็มาล้อมการบีบเเตรดังกล่าวจึงเป็นการบีบใส่ตำรวจ เเต่ที่ไม่มีการตั้งข้อหา 112 คงเพราะจะกลัวว่าเป็นการอ้างสถาบันมากเกินไปก็ตั้ง ข้อหา116 สร้างกระเเสดราม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น