MGR Online - "รองโฆษก อสส." เผยประชุมแนวทางกำกับดีเอสไอ สืบสวนคดี "ลุงเปี๊ยก" หลังรับเป็นคดีพิเศษ พบเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ (1 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงความคืบหน้ากรณีนายปัญญา คงแสนคำ หรือ "ลุงเปี๊ยก" ที่ถูกตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ข่มขู่บังคับเพื่อให้รับสารภาพคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน ซึ่งพฤติกรรมของตำรวจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ว่า ก่อนหน้านี้ "กัน จอมพลัง" ได้พาญาติของลุงเปี๊ยกได้มาร้องทุกข์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายหรือไม่ โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษลงพื้นที่สืบสวนสอบสวนเบื้องต้นพบว่ามีการกระทำความผิดจริง จึงเสนออธิบดีดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ตาม ม.31 ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ และไม่ต้องผ่านการประชุมคณะกรรมการพิจารณา โดยอยู่ภายใต้อัยการเข้ามากำกับการสอบสวนตั้งแต่แรกจนถึงสรุปสำนวน ซึ่งดีเอสไอได้ส่งหนังสือไปยังอธิบดีอัยการสอบสวนแล้ว ทั้งนี้ อัยการพิจารณาตัดสินใจให้ดีเอสไอทำคดีลุงเปี๊ยกต่อ เพราะรวบรวมพยานหลักฐานมาตั้งแต่ต้นแล้ว
นายวัชรินทร์ เผยว่า โดยวันนี้ (1 มี.ค.) เป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรก ดีเอสไอ ซึ่งได้เข้าสอบปากคำลุงเปี๊ยกที่ รพ.ธัญญารักษ์ ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ที่ให้การรักษาแล้ว ลุงเปี๊ยกสามารถให้การได้เป็นอย่างดีและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ รวมถึง พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังได้ลงพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อสอบปากคำพยานในคดีนี้เบื้องต้นแล้ว 7 ปาก มีทั้งข้าราชการตำรวจ และพลเรือนที่ถ่ายคลิปเหตุการณ์ของลุงเปี๊ยกไว้ได้
นายวัชรินทร์ เผยอีกว่า ส่วนแนวทางการสอบสวนต้องอาศัยกฎหมายและระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ต้องหยุดการสอบสวนและมอบสำนวนคดีมาให้คณะพนักงานสอบสวน ดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม สำนวนดังกล่าวไม่มีผลต่อการสอบสวนของทางดีเอสไอแต่หากตรวจสอบพบว่า มีการทำสำนวนเพื่อช่วยเหลือกันก็จะดำเนินการไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรณีตำรวจ สภ.อรัญญประเทศ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 157 เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคดีบังคับลุงเปี๊ยกรับสารภาพนั้น ทาง ป.ป.ช. จังหวัดสระแก้ว ก็จะส่งสำนวนกลับมาให้ ดีเอสไอ ดำเนินการร่วมกับอัยการสำนักงานการสอบสวนเช่นกัน
นายวัชรินทร์ เผยต่อว่า สำหรับแนวทางการสอบสวนนั้นเนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนแล้วว่าเป็นการควบคุมตัวลุงเปี๊ยกไม่ใช่การเชิญตัวตามที่ตำรวจกล่าวอ้าง ดังนั้น ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะต้องเริ่มจากการตรวจสอบว่าใครทำอะไรกับลุงเปี๊ยกวันในเกิดเหตุบ้าง ทำให้ปราศจากเสรีภาพหรือไม่ มีการแจ้งการควบคุมตัวไปยังนายอำเภอหรืออัยการจังหวัดตามกฎหมายหรือไม่ เมื่อควบคุมตัวแล้วได้พาลุงเปี๊ยกไปที่ใด มีการบันทึกภาพระหว่างการสอบปากคำหรือไม่ และจะทำการตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ตามมาตรา 5 , 6 , 7 หรือไม่ เช่น การบังคับทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจเพื่อให้สารภาพ ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้น ซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
“ส่วนผู้บังคับบัญชาจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ด้วยหรือไม่นั้นจะต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมว่ารู้เห็นการกระทำ และได้ยับยั้งเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำนั้นหรือไม่ หากพบว่ามีความผิด ผู้บังคับบัญชาจะต้องรับโทษกึ่งหนึ่ง หรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ละเลยไม่ห้ามในการกระทำผิดก็ต้องรับโทษด้วย อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคดี ผกก.โจ้ คลุมถุงดำ”
นายวัชรินทร์ กล่าวย้ำว่า คณะทำงานชุดนี้ประกอบไปด้วยอัยการ 9 คน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับชุดที่ร่วมกำกับการสอบสวนในคดี อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรีกับพวก ร่วมกันเรียกรับทรัพย์จากเจ้าของเว็บไซต์พนันออนไลน์ 140 ล้านบาท หรือ เป้รักผู้การ และยังมีอัยการที่ร่วมร่าง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อยู่ในคณะทำงานด้วย จึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เรื่องนี้ไม่มีการกันแกล้งหรือให้การช่วยเหลือผู้ใด
ส่วนความคืบหน้าในคดี “เป้รักผู้การ” มีผู้ต้องหา 33 ราย ทั้งตำรวจและพลเรือน มีการขอยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมมตามสิทธิ์ของผู้ต้องหา และเจ้าหน้าที่ลงสอบพยานเรียบร้อยแล้ว โดยคณะพนักงานสอบสวนจะประชุมคดีอีกครั้งในวันที่ 18 มี.ค.นี้ เพื่อสรุปว่าจะสั่งฟ้องผู้ต้องหารายใดบ้างในความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหายื่นพยานหลักฐานซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ส่วน นายต้น หนึ่งในผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศ มีมติแล้วว่าจะแจ้งไปยังตำรวจสากลเพื่อออกหมายน้ำเงินสำหรับผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีออกหมายจับแล้ว เพื่อให้ติดตามที่อยู่ของผู้ต้องหา และเมื่ออัยการได้สั่งฟ้องแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นหมายแดง เพื่อติดตามจับกุมและดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป