xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตร TICAC สอนเยาวชนใช้สื่อออนไลน์อย่างปลอดภัย ป้องกันความเสียหายจากการถูกละเมิดทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ Thailand Internet Crimes Against Children (TICAC) มีหน้าที่ทำคดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง 1.Sex หมายถึงเรื่องทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์, การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง หรือการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ 2.เด็ก หมายถึงบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และ 3.เน็ต หมายถึงอินเตอร์เน็ต

ทำหน้าที่สืบสวนปราบปรามการกระทำความผิดของผู้ต้องหา ซึ่งใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการสนองความต้องการทางเพศ ล่อลวงให้ส่งภาพลามกอนาจาร ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันความเสียหายให้กับกลุ่มเป้าหมายตามสถาบันการศึกษา โรงเรียน และชุมชน ไม่ต่างจากแนวทางการให้ครู D.A.R.E ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจ ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ด้านการป้องกันพิษภัยจากปัญหายาเสพติด เช่นในอดีต

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ปราโมทย์ จันทร์บุญแก้ว ผกก.สน.เพชรเกษม พร้อมด้วยครูตำรวจ D.A.R.E สน.เพชรเกษม ได้ถูกผู้บริหารสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย วิทยาลัยเทคโนโลยีฐานเทคโนโลยี อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร เทียบเชิญเข้าไปเป็นวิทยากรตามหัวข้อ "ตระหนักรู้และเข้าใจ ถึงภัยไซเบอร์" ในโครงการอบรมให้ความรู้ด้านวิชาชีพคอมพิวเตอร์ธุรกิจให้กับผู้เรียน ซึ่งเป็นนักเรียน ปวช.ชั้นปีที่ 2 ของสถาบัน จำนวน 260 คน

ด้วยความเป็นตำรวจจึงพิจารณาถึงเรื่องภัยไซเบอร์ ที่กำลังเป็นประเด็นคุกคามเด็กและเยาวชน อย่างหนักในสภาวะปัจจุบัน พ.ต.อ.ปราโมทย์ จึงได้นำเอาหลักสูตรป้องกันภัย ที่ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) ร่างไว้ไปถ่ายทอดให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 260 ชีวิต รวมถึงคณะครู อาจารย์ในสถาบันการศึกษาได้รับทราบและตระหนักถึงความอันตรายจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดียแบบผิดวัตถุประสงค์ ผิดที่ผิดทาง

เริ่มจากการบรรยายถึงคุณประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ ใช้สำหรับเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสาร แสดงผลงานตามแนวคิดที่สร้างสรรค์ และใช้มันเพื่อธุรกิจการค้านำรายได้มาสู่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ มานักต่อนัก ในขณะเดียวกันต้องแฝงการบรรยายถึงหัวข้อพิษภัยจากการใช้แอพพลิเคชั่น ที่ไม่สามารถระบุเฉพาะเจาะจงลงไปได้แบบ 100 % ว่า ใครเป็นผู้ใช้ตัวจริง และผู้ใช้ที่เด็กๆ มีปฏิสัมพันธ์บนโลกโซเชียลมีเดียนั้น เป็นสุจริตชนหรือมิจฉาชีพ

จากข้อมูลสถิติที่ ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) ดำเนินการสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่ก่อคดีกับเด็ก ในอินเตอร์เน็ตนั้น สามารถวางแนวทางป้องกันการเกิดเหตุ ด้วยการมอบความรู้ให้กับเด็กๆ กลุ่มเป้าหมาย ได้ระวังอาชกรที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย จำนวน 4 ข้อ ได้แก่ 1.หลอกจะให้เงิน 2.เชิญเป็นดารา 3.ชวนให้แก้ผ้า และ 4.ท้าให้เปิดกล้อง

อันดับแรกการหลอกจะให้เงิน เป็นวิธีการที่คนร้ายมักจะขอให้เหยื่อถ่ายรูป คลิป ลามกอนาจาร หรือเป็นการวีดิโอคอลให้ดู แลกกับเงินจำนวนหนึ่ง บางครั้งจะหลอกล่อเหยื่อด้วยการโอนเงินให้จริงในครั้งแรกๆ โอนเงินน้อยๆ เพื่อให้เหยื่อเชื่อใจก่อน หลังจากนั้นก็จะเสนอเงินก้อนใหญ่แลกกับรูป หรือคลิปที่มีความเสี่ยงมากขึ้น จากนั้นหากเหยื่อหลงเชื่อส่งภาพหรือคลิปไป คนร้ายก็จะไม่ให้เงินตามที่ตกลงไว้

อันดับที่สองการเชิญเป็นดารา ในปัจจุบันวงการบันเทิงเป็นหนึ่งในความฝันของเด็กๆ แต่มันกลับเป็นช่องทางให้คนร้ายเข้าถึงตัวเด็กๆ ได้มากขึ้นซึ่งคนร้ายมักจะกล่าวอ้างว่าตนเองเป็น แมวมอง โมเดลลิ่ง ผู้จัดหาหรือผู้จัดการศิลปิน ดารา บางคนเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีถึงขั้นมีรูปตัวเองในกองถ่าย มีภาพถ่ายคู่กับดารา ศิลปิน คนดัง เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ จากนั้นจะอ้างว่าสนใจอยากจะชวนเหยื่อเข้าสังกัด หรือไปแคสเป็นนางแบบโฆษณา หรือบทต่างๆ แต่ต้องถ่ายสัดส่วนให้ดู เพื่อเป็นการประเมินภาพลักษณ์ รวมถึงจะได้แนะนำว่าควรปรับสัดส่วนตรงไหน และจะดูแลค่าใช้จ่ายให้

อันดับที่สามชวนให้แก้ผ้า และ อันดับสุดท้ายคือการท้าให้เปิดกล้อง ส่วนใหญ่ความเสียหายจากสาเหตุทั้ง 2 ประการนี้ จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันจากการใช้แอพพลิเคชั่นหาคู่ และเกมส์ออนไลน์ ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันนี้ คนรู้จักจากแอพฯ เดตหาคู่ หรือ เกมออนไลน์ จะเข้ามาตีสนิท หรือคบหากัน จนสนิทและให้ความเชื่อใจ ชักชวนให้ถ่ายรูปลามก อนาจาร แลกรูป จนกระทั่งมีการแลกกล้อง แล้วแอบบันทึกภาพไว้

เมื่อคนร้ายหรือมิจฉาชีพได้ภาพลับจากการที่เหยื่อยินยอมส่งให้ ก็จะนำไปขาย แจกจ่าย ส่งต่อ หรือนำมาข่มขู่เพื่อขอภาพและคลิปลับเวอร์ชั่นใหม่ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกแบล็คเมล์ เรียกเงินค่าไถ่แลกกับการหลอกว่าจะลบภาพหรือคลิป วนเวียนไปไม่รู้จบ หนักที่สุดถึงขั้นขอนัดพบเพื่อมีเพศสัมพันธ์ บ่อยครั้งที่คนร้ายมีพฤติการณ์ซับซ้อนต่ำทรามมากกว่านั้นนั่นคือแอบถ่ายคลิประหว่างมีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อเพื่อนำไปขายในกลุ่มลับได้อีก

สำหรับแนวทางการป้องกันตัวเองอย่างง่าย ที่ ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) ทำเป็นหลักสูตรเอาไว้ คือ 1.ประชาสัมพันธ์ให้เด็กๆ กลุ่มเป้าหมาย ไม่รับเพื่อนหรือสนทนากับคนที่ไม่รู้จัก 2.ไม่ส่งข้อมูลส่วนตัวให้กับบุคคลที่ตัวเองไม่รู้จัก 3.ไม่ถ่ายภาพ ไม่ถ่ายคลิป ที่สื่อถึงกิจกรรมทางเพศให้คนอื่น แม้จะเป็นคนที่เชื่อใจ ไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งคนรักก็ตาม 4.ควรตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในโซเชียลมีเดียของตัวเอง และ 5.หมั่นสังเกตสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะระมัดระวังอุปกรณ์กล้องและมือถือแอบถ่าย ผ่านสิ่งของที่ปกติแล้วไม่ควรอยู่ในบริเวณนั้นๆ

วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อหลงเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแล้ว มีมาตรการรับมืออยู่ 6 ประการ ได้แก่ 1.ห้ามบล็อคหรือลบข้อมูลช่องทางติดต่อคนร้ายเนื่องจากเป็นหลักฐานสำคัญ 2.เก็บข้อมูล ID, URL, Account name คนร้ายเอาไว้ 3.บันทึกบทสนทนากับคนร้ายเอาไว้ให้ได้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นรูปแบบวีดีโอหรือภาพนิ่ง 4.หยุดตอบโต้กับคนร้ายทั้งทางตรงและทางอ้อม 5.หากเหยื่ออายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องรีบแจ้งให้ผู้ปกครองทราบ และ 6.รีบส่งเรื่องให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ อาทิ ชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC), บช.สอท. และ บก.ปคม.
























กำลังโหลดความคิดเห็น