MGR Online - เลขา ปปง. แจงยึดทรัพย์คดีหุ้น STARK แล้ว 2,895 ล. จ่อขยายผลทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศ ส่วนแก๊งนำเข้าหมูเถื่อน ยึดทรัพย์กว่า 96 ล.
วันนี้ (15 ก.พ.) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) พร้อมด้วย นายวิทยา นีติธรรม ผอ.กองกฎหมายและโฆษกประจำสำนักงาน ปปง. , นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และ นายปิยะ ศรีวิกะ ผอ.กองคดี 2 สำนักงาน ปปง. ร่วมแถลงข่าวสรุปผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ประจำเดือน ก.พ.67 ซึ่งได้ดำเนินการกับทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 3,700 ล้านบาท
นายเทพสุ กล่าวว่า การดำเนินการกับทรัพย์สิน 1,027 รายการ 50 รายคดี มูลค่าทรัพย์สินกว่า 3,729 ล้านบาท และมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน 37 รายคดี โดยมีการยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 26 รายคดี ทรัพย์สิน 228 รายการ พร้อมดอกผล โดยคดีสำคัญที่มีการยึดอายัดในคราวนี้ ได้แก่ คดีบริษัท STARK มูลค่าทรัพย์สินที่ยึดอายัดรวมประมาณ 2,541 ล้านบาท (รวม 2 คำสั่ง ยอดรวมประมาณ 2,895 ล้านบาท)
นายเทพสุ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีกลุ่มขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากร โดยคณะกรรมการฯ มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้แล้ว จำนวน 24 รายการ มูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินของกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องพบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 26 รายการ (ที่ดิน รถยนต์ และเงินในบัญชีเงินฝาก) มูลค่าประมาณ 43 ล้านบาท (คำสั่ง ย.248/2566) รวมทั้งหมด 96 ล้านบาท
“นอกจากนี้ คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 19 รายคดี ทรัพย์สิน 717 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 1,090 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด ฉ้อโกงประชาชนหรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ การลักลอบหนีศุลกากร และการจัดให้มีการเล่นพนันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์” เลขา ปปง. กล่าว
ด้าน นายปิยะ เผยว่า ปปง. ได้หารือกับตัวแทนผู้เสียหาย ยังคงมีความกังวล 3 ประเด็น 1.การดำเนินคดีอาญาผู้กระทำผิด พบว่ามีทั้งผู้ถูกสั่งฟ้องและไม่สั่งฟ้อง ซึ่งผู้เสียหายสงสัยว่า ปปง. จะดำเนินการ อย่างไร โดยยืนยันว่าจะขยายผลตรวจสอบต่อไปถึงแม้บางรายไม่ถูกดำเนินคดีอาญา แต่หากมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ เช่น เป็นบุคคลใกล้ชิดหรือเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องอาจต้องดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินด้วย 2.ทรัพย์สินภายในประเทศ มีทั้งในส่วน กลต. ใช้กฎหมายอายัดบ้างแล้ว อาทิ อสังหาริมทรัพย์ บัญชีธนาคาร ยานพาหนะ แต่สำหรับ ปปง. ได้ใช้กฎหมายฟอกเงินดำเนินการยึดอายัดทรัพย์ไปแล้วเกือบ 30,000 ล้านบาท พร้อมขยายผลเพิ่ม
นายปิยะ เผยอีกว่า และ 3.ทรัพย์สินในต่างประเทศ ทาง ปปง. ติดตามยึดอายัดทรัพย์สินแล้ว 200 กว่าล้านบาท ขณะนี้เจอบัญชีการทำธุรกรรมหลักหมื่นครั้ง อาจทำให้เกิดความซับซ้อน เพราะมีทั้งสุจริตและได้รับผลประโยชน์ แต่ก็เร่งรัดติดตามทรัพย์สินโดยร่วมมือกับ ปปง. ต่างประเทศ ว่ามีบัญชีใดบ้างซื้อทรัพย์สินไปที่ไหน และเป็นทรัพย์สินอะไรบ้าง หากเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดจะใช้กฎหมายฟอกเงินดำเนินการ ทั้งนี้ สำหรับบัญชีม้าก็ต้องประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เอาผิดฐานฟอกเงินแยกเป็นอีกส่วน
นายปิยะ เผยต่อว่า สำหรับขั้นตอนในการยื่นคำร้องเพื่อชดใช้คืนผู้เสียหาย ทั้ง กลุ่มหุ้นกู้ กลุ่มเพิ่มทุน กลุ่มหุ้นสามัญ ให้ติดต่อสำนักงาน ปปง. ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา จะครบกำหนดวันที่ 26 ก.พ.67 ขณะนี้ลงทะเบียนกว่า 4,600 รายแล้ว จากนั้นจะนำเรื่องมาพิจารณาผู้เสียหายที่อยู่ในหลักเกณฑ์ชดใช้ทรัพย์สินคืนตามมูลค่าความเสียหาย ก่อนส่งเรื่องตามกระบวนการพิจารณาของศาลต่อไป ส่วนผู้เสียหายที่ยื่นเรื่องแล้วไม่ต้องยื่นเรื่องในครั้งต่อไป และจะเปิดให้ผู้เสียหายรายอื่นลงทะเบียนเพิ่มเติม