xs
xsm
sm
md
lg

ทนายยื่นค้านฝากขัง นักข่าวประชาไทคดี พ่นสีพระราชวัง เมื่อปี 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



ทนายความยื่นค้านฝากขัง นักข่าวประชาไทและนักข่าวอิสระ ถูกแจ้งข้อหาสนับสนุนทำลายโบราณสถาน พระราชวัง เมื่อปี 2566 อ้างออกหมายจับนานแล้ว แต่ตำรวจเพิ่งจับกุม



วันนี้ (13 ก.พ.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความม็อบเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมด้วย น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความนักข่าวประชาไทเดินทาง มายื่นคัดค้านคำร้องฝากขัง นายณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และนายณัฐพล พันธ์พงส์สานนท์ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 โดนตำรวจจาก สน.พระราชวัง ในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน

น.ส. คุ้มเกล้า ทนายความผู้ต้องหา กล่าวว่า หมายจับออกโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2666 เป็นการออกหมายจับหลังจากเหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2566 จากกรณีที่มีนักเคลื่อนไหวพ่นสีข้อความเชิงสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระเเก้ว ซึ่งคดีมีการฟ้องเเล้วขั้นตอนอยู่ระหว่างสืบพยานในศาล เเต่กลับมีการออกหมายจับนักข่าว2คนจากสำนักข่าวประชาไท เเละสำนักข่าวออนไลน์เเห่งหนึ่ง ทั้งที่เวลาผ่านไปกว่า 1 ปี


โดยข้อหาที่โดนเเจ้งเป็นผู้สนับสนุนทำลายโบราณสถาน ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 เเสนบาท ซึ่งการลงโทษฐานสนับสนุนจะไม่สูงเท่าตัวการ โดยผู้สนับสนุนจะมีโทษ 3 ใน 4 ของโทษเต็มซึ่งถือว่ายังเป็นโทษที่สูง

ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ให้การว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนเเละช่างภาพเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริง เพื่อที่จะนำพิจารณาในชั้นสอบสวนไปถึงพนักงานอัยการต่อไป เมื่อวานนี้ทนายความได้ขอยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนซึ่งมองว่าจากข้อหาความผิดในคดีเเละไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดยการออกหมายจับไม่ใช่ออกเพราะจะหลบหนี เเต่เป็นการออกหมายจับเพราะฐานความผิดโทษเกิน 3 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุที่จะให้ประกันในชั้นสอบสวนได้ เเต่กลับไม่ให้ประกันเเละนำตัวมายื่นฝากขัง ซึ่งการฝากขังควรต้องมีเหตุจึงฝากขังได้ เเต่คดีนี้ผ่านมา 1 ปีการสืบสวนสอบสวนควรต้องเเล้วเสร็จไปเเล้ว ก็เป็นสิทธิ์ของผู้ต้องหาที่จะมีการยื่นคัดค้านการฝากขัง

เมื่อถามถึงเหตุผลที่พนักงานสอบสวนไม่ให้ประกันตัว

น.ส. คุ้มเกล้า กล่าวว่าพนักงานสอบสวนระบุว่ามีหมายจับเเละคดีมีอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี จึงให้เป็นอำนาจศาลพิจารณาซึ่งการดำเนินคดีครั้งนี้พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนมองว่า เป็นผู้สนับสนุน สื่อมวลชนเองควรต้องตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนด้วย เเละคดีนี้ตำรวจได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเหตุเกิดในพื้นที่ สน.พระราชวังสถาน แต่ถูกเเยกไป 2 สน.คือ สน.ฉลองกรุงและทุ่งสองห้อง

ตนคิดว่า วงการวิชาชีพสื่อควรตั้งคำถามกับพนักงานสอบสวนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงแนวปฏิบัติในการดำเนินคดีเพราะในปัจจุบันมีทั้งผู้สื่อข่าวที่มีสังกัดและผู้สื่อข่าวอิสระ


นายกฤษฎางค์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นเรื่องแปลกที่รัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมจะต้องรับผิดชอบ จริงอยู่ที่มีหมายจับแต่หมายจับออกจากครบ 1 ปีแล้ว จนคดีที่ไปพ่นสีจะมีการสืบพยานใช้เวลาสืบกว่า 6-7 เดือนแล้วค่อยออกหมายจับ เรื่องนี้สื่อมวลชนควรเรียกร้องไปยังรัฐบาล เพราะตำรวจอยู่ภายใต้รัฐบาลว่าทำไมทำเเบบนี้ ยังจำกันได้หรือไม่ว่าอนุสาวรีย์ปราบกบฏหลักสี่ มันหายไป 7-8 ปีแล้วแต่ตำรวจยังไม่ไปตามจับสักที ทั้งที่หลักฐานข้อมูลก็มีจำนวนมาก ถ้ายังทำแบบนี้ก็จะเห็นว่าเป็นการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแบบสองมาตรฐาน คดีนี้โทษ 7 ปีก็จริงแต่ไม่มีอัตตราโทษขั้นต่ำ ศาลจะลงโทษเเค่ปรับก็ได้ และนักข่าวไม่ใช่โจรผู้ร้าย ทีโจรผู้ร้ายกลับให้ประกัน คดีฆ่ากันที่ชลบุรีตนไม่ได้ว่าเขาผิดเเต่ให้ประกันตัวไป 8 เเสนบาท เเต่ทำไมนักข่าวกลับไม่ให้ประกันตัว เป็นคำถามที่ตนอยากให้ผู้สื่อข่าวทุกคนรักษาสิทธิ์ของตัวเอง รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าสิทธิของสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำข่าว เพราะหากสื่อมวลชนไม่มีเสรีภาพอยู่ในความหวาดกลัวประชาชนก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เดินทางมาศาลอาญาเพื่อให้กำลังใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น