ศาลเเขวงปทุมวันสั่งจำคุก “พิธา” กับพวก คนละ 4 เดือน คดีจัดแฟลชม็อบ ที่สกายวอล์ก แยกปทุมวัน เมื่อปี 62 ปรับ 20,200 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
วันนี้ (5 ก.พ.) ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ 767/2563 ที่ พนักงานอัยการคดีศาลแขวง 6 (ปทุมวัน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา, นายพริษฐ์ ชีวารักษ์, นายธนวัฒน์ วงค์ไชย, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายปิยบุตร แสงกนกกุล, น.ส.พรรณิการ์ วานิช, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ นายไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร เป็นจำเลย 1-8 ในความผิด ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวังฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานีรถไฟ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะฯ, ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุม หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงจะคาดหมายได้ฯ, พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
จากกรณีที่ กลุ่มจำเลย ร่วมในการชุมนุมแฟลชม็อบ บริเวณสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2562 ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ คดีกู้ยืมเงินจากนายธนาธร 191 ล้านบาท และจำเลยยังได้สลับกันขึ้นปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว
โดยในวันนี้จำเลยเดินทางมาศาลพร้อมทนายความ
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งแปดที่เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแม้ต่างคนต่างเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นโดยผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) ของตนแต่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงถึงเจตนาของจำเลยทั้ง 8 ว่า เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและ ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม จำเลยทั้ง 8 จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อหัวหน้าสถานีตำรวจแห่ง ท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และจำเลยทั้งแปดต้องตรวจสอบว่าสถานที่ใดสามารถจัดการชุมนุมสาธารณะได้โดยไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย และเป็นสถานที่ที่เหมาะสม แม้จะ ฟังได้ว่าไม่ได้มีการปิดกั้นหรือขัดขวางการสัญจรของประชาชนผู้ที่ใช้ทางสาธารณะและทางเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่ย่อมคาดหมายได้ว่าจะต้องมีประชาชนมาร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก ย่อมเล็งเห็นได้ว่าโดยสภาพของพื้นที่ดังกล่าวย่อมกระทบต่อสัญจรของประชาชนและกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า จำเลยทั้งแปดไม่สามารถดูแลรับผิดชอบการชุมนุมไม่ให้เกิดการขัดขวางเข้าออกต่อประชาชนที่จะใช้ทางเดินสาธารณะ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟฟ้า จุดเกิดเหตุบริเวณที่มีการปราศรัยและบริเวณที่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่ในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม จำเลยทั้งแปดในฐานะที่เป็นแกนนำเป็นผู้จัดการชุมนุมปรากฏตัวเข้าร่วมชุมนุมและอยู่บริเวณดังกล่าวตลอดเวลา แม้จำเลยที่ 1-3 และที่ 8 จะไม่ได้ขึ้นปราศรัยร่วมกับจำเลยที่ 4-7 พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่เชิญชวนหรือนัดให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุจำเลยทั้งแปดจึงเป็นตัวการ่วมในการจัดการชุมนุมสาธารณะและจัดการปราศรัยโดยใช้โทรโข่งและเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งแปดต้องตระหนักถึงหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามพระราชบัญญัติการ ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายจำเลยทั้งแปดเพิกเฉยไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมายก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และไม่ขอรับอนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และถือว่าจำเลยทั้งแปดทราบดีว่า บริเวณสกายวอล์คแยกปทุมวันเป็นพื้นที่อยู่ในระยะรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุมซึ่งการชุมนุมสาธารณะจะกระทำไม่ได้ ตามกฎหมาย จำเลยทั้งแปดจงใจไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งตามกฎหมาย โดยมีเจตนาจัดให้มีการชุมนุมสาธารณะขึ้นในบริเวณดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และผลแห่งการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะก่อให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชน ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมจนก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร จึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งแปดกระทำผิดฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระราชวังสระปทุม ซึ่งเป็นพระราชวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไปประทับหรือพำนัก ฐานร่วมกันเป็น ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการใช้บริการสถานีรถไฟฟ้า ฐานร่วมกันเป็น ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนไม่ดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชุมนุมสาธารณะและฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร และขัดขวางหรือกระทำการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะในการ คุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะและการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น กับฐานใช้โทรโข่งไมค์ลอย หรือไมโครโฟนไร้สายที่เชื่อมต่อกับเครื่องขยายเสียงและลำโพงอันเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าประเภทแบตเตอรี่หรือไฟฉาย อันเป็นการใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณาหรือแสดงความ คิดเห็นแก่ประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต
พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 8(2), 17(7), 27, 31 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้ง 8 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติสติปัญญา และสถานะทางสังคม จำเลยทั้งแปดเป็นผู้มีชื่อเสียง มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ไม่ปรากฏ ข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งแปดเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งความผิดที่กระทำสืบเนื่องมาจากต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรมร้ายแรง กรณีมีเหตุอันควรปรานีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยทั้งแปดได้กลับตัวและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้สิทธิและเสรีภาพภายใต้ขอบเขตตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกำหนด 2 ปี
และจำเลยทั้ง 8 มีความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง, 28 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4วรรคหนึ่ง, 9 วรรคหนึ่ง ฐานร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ปรับเป็นพินัยคนละ 10,000 บาท ฐานร่วมกันโฆษณาหรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับเป็นพินัยคนละ 200 บาท รวมค่าปรับเป็นพินัย คนละ 10,200 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1, 2, 6 ต่อจากโทษของจำเลยดังกล่าวในแต่ละคดีตามฟ้องนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าคดีที่ขอให้นับโทษต่อศาลในแต่ละคดีได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหรือไม่ ให้ยกคำขอให้นับโทษต่อของโจทก์
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาว่า จำเลยยังติดใจในประเด็นเรื่องของระยะ 150 เมตร ของเขตพระราชฐานว่าวัดจากจุดไหน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวมีการเทียบเคียงกับคดีอื่น ที่มีการชุมนุมสถานที่เดียวกัน จุดเดียวกัน ซึ่งศาลอาญากรุงเทพฯใต้เคยมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหาชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานในระยะ 150 เมตร ทั้งที่เป็นการชุมนุมจุดเดียว
อีกทั้งในประเด็นเรื่องของการไม่แจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลแขวงจังหวัดเชียงรายเคยมีคำวินิจฉัยว่าไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเพียงแต่ต้องแจ้ง พนักงานสอบสวนให้ทราบเท่านั้น แต่หากมีการโพสต์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็ถือว่าเจ้าหน้าที่รับรู้แล้ว ซึ่งคดีนี้ตำรวจรับรู้ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 แล้วว่ามีการชุมนุม เนื่องจากจำเลยมีการโพสต์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะทนายคิดว่าจำเลยควรที่จะอุทธรณ์คดี เรื่องนี้ไม่ต้องการเอาชนะ แต่ต้องการความจริง ตนเคารพคำพิพากษาศาลเเต่เคารพข้อเท็จจริงมากกว่า ส่วนอัยการจะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานหนักกว่าเดิมหรือไม่ต้องถามทางอัยการ
นายพิธา กล่าวว่า จากการหารือกับจำเลยคนอื่น ว่า จะต้องยื่นอุทธรณ์คดี เพราะมีประเด็นข้อเท็จจริงเรื่องของระยะของการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐาน ว่า อาจจะมีความคลาดเคลื่อนของ 150 เมตร ว่า วัดจากจุดไหน เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานกับคดีอื่นๆ พร้อมระบุว่าการที่ศาลตัดสินในลักษณะนี้ ไม่ทำให้พรรคก้าวไกลเสียเครดิตทางการเมือง เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจในข้อเท็จจริง ตนเองอยากโฟกัสเรื่องงานเพราะสัปดาห์หน้าจะไปสภาอภิปรายเรื่องของปัญหาการประมง
ด้าน นายปิยบุตร คดีนี้มีหลายประเด็นในการยื่นอุทธรณ์ต่อ พร้อมเทียบเคียงกับคดีปิดสนามบิน มีผลกระทบจำนวนมาก และเป็นความผิดชัดเจนแต่ศาลพิจารณาสั่งปรับคนละ 20,000 บาท ส่วนคดีการชุมนุมคดีนี้ เป็นการชุมนุมใช้ระยะเวลาไม่นานหลังเลิกชุมนุมก็มีการช่วยกันเก็บขยะ สุดท้ายถูกจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,200 บาท เป็นเหตุผลที่จะต้องอุทธรณ์คดีเพื่อให้ศาลสูงพิจารณา ส่วนเรื่องความไม่เหมาะสมของกฎหมายก็อยากจะฝากให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณาแก้ไขในสภาต่อไป