ตำรวจไซเบอร์แถลงข่าวปฏิบัติการ BOOKING GONE ทลายเครือข่ายเพจโรงแรมปลอม หลอกจองห้องพัก จับ 2 ผู้ต้องหา มูลค่าความเสียหายกว่า 1.4 ล้านบาท
วันนี้ (2 ก.พ.) ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง รอง ผบช.ทท. พร้อมด้วยตัวแทน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กรมการท่องเที่ยวและสมาคมโรงแรมไทย แถลงข่าวปฏิบัติการ BOOKING GONE ทลายเครือข่ายเพจโรงแรมปลอม หลอกจองห้องพัก กรณีได้รับร้องเรียนจากประชาชนจำนวนหลายราย โอนเงินจองที่พักผ่านเพจเฟซบุ๊กของโรงแรมแล้วไม่สามารถติดต่อและเข้าพักตามที่จองได้ โดยมิจฉาชีพมักปลอมเฟซบุ๊กอ้างชื่อโรงแรมและรีสอร์ตชื่อดังที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว โดยการตั้งชื่อให้คล้ายกับที่พักของจริง รวมทั้งมีการโพสต์ภาพของสถานที่จริงเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยจากการตรวจสอบพบว่า ช่วงปลายปี 2566 และต้นปี 2567 เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จึงทำให้มีเฟซบุ๊กแฟนเพจที่พักปลอมลักษณะนี้จำนวนมาก ทาง พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท. จัดเจ้าหน้าที่ออกสืบสวนกรณีดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้กระทำผิดได้จำนวน 2 ราย รวมค่าเสียหายกว่า 1.4 ล้านบาท
คดีที่ 1 คดีปลอมเพจ Pool Villa หลายบัญชี โดยนายสุนทร (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ชาวภูเก็ต มีพฤติการณ์ชอบเดินทางไปสำรวจตามที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อนำภาพถ่ายและข้อมูลมาสร้างเพจที่พักประเภทพูลวิลล่าจำนวนหลายเพจ โดยใช้ภาพและสถานที่จริงมาดึงดูดให้เหยื่อสนใจ ก่อนที่เหยื่อจะหลงเชื่อติดต่อพักจองที่พัก โดยนายสุนทรจะให้เหยื่อโอนมัดจำครึ่งนึง เพื่อสร้างความไว้วางใจ ก่อนจะส่งพิกัดที่พักและข้อมูลต่างๆ จะเหมือนว่าห้องพักนี้มีอยู่จริง จนกว่าเหยื่อจะได้ไปสถานที่จริงแล้วไม่ได้เข้าพักหรือจนกว่าเหยื่อจะรู้ตัว ก็จะดำเนินการบล็อกเหยื่อ
จากการสืบทราบพบว่า นายสุนทร เคยเป็นอดีตนายหน้ารับจองที่พัก จึงมีความเชี่ยวชาญและชำนาญในเรื่องนี้ แต่ใช้วิชาชีพในด้านที่ผิด อีกทั้งยังพบว่า เพจที่นายสุนทรสร้างนั้นถูกร้องเรียนจากผู้เสียหายมากกว่า 40 รายทั่วประเทศ สร้างความเสียหายเกือบกว่า 800,000 บาทและมีฐานข้อมูลเตือนภัยในเว็บ “เช็คก่อน.com” ด้วย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับและสามารถติดตามจับกุมนายสุนทรได้ที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ขณะกำลังเดินทางไปสำรวจที่พักในพื้นที่ อ.ปาย เพื่อนำมาสร้างเพจหลอกลวงประชาชน
นอกจากนี้ยังพบว่า นายสุนทรมีพฤติการณ์หลอกลวงให้ผู้อื่นมาเป็นบัญชีม้า ด้วยการโพสต์รับสมัครงานตามกลุ่มหางานในตำแหน่ง Admin ทำหน้าที่ประสานงานและรับจองห้องพัก โดยหลอกผู้สมัครงานว่า ต้องใช้บัญชีธนาคารของผู้สมัครเป็นช่องทางรับเงินค่าจองห้องพัก ซึ่งผู้สมัครงานไม่ทราบว่า ที่พักที่ตนรับจองให้เหยื่อนั้นไม่มีอยู่จริง จึงทำให้กลายเป็นบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งพบว่ามีจำนวนประมาณ 4-5 รายที่ตกเป็นเหยื่อบัญชีม้าของนายสุนทร เบื้องต้นได้ดำเนินการแจ้งความเพื่อเอาผิดกับนายสุนทรแล้ว
ทั้งนี้ จากการจับกุมนายสุนทร สามารถตรวจยึดของกลางเป็นมือถือ 6 เครื่อง และโน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง รวมทั้งมีข้อมูลว่า นายสุนทรเป็นแอดมินเพจหลอกลวงที่พักประเภทพูลวิลล่าเป็นจำนวนมาก จึงแจ้งข้อหาดำเนินคดีร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์, รวมทั้งเป็นผู้เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากโดยไม่มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง เบื้องต้น นายสุนทรให้การรับสารภาพ โดยทำหน้าที่เป็นทั้ง Admin และผู้รับเงินเพียงผู้เดียว
คดีที่ 2 คดีปลอมเพจโรงแรม MYS Khaoyai ซึ่งคดีดังกล่าวสามารถจับกุมนายบุริณ (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี ชาว จ.เชียงราย ได้ขณะกำลังกดเงินจากตู้ ATM เพื่อเตรียมส่งข้ามชายแดน โดยพฤติการณ์ของคดีนี้พบว่า มีการเปิดเพจปลอมของโรงแรมดังกล่าว มีผู้ติดตามมากกว่า 20,000 ราย มิจฉาชีพจะดาวน์โหลดคลิปวิดีโอและภาพจากเพจของโรงแรมจริง พร้อมทั้งยิงแอดโฆษณาเพื่อเพิ่มการเข้าถึง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ แล้วทักไปที่เพจ คนร้ายก็จะเสนอโปรโมชั่นที่ทำให้จ่ายถูกกว่าปกติจนเหยื่อเชื่อใจและโอนเงินจองที่พัก แต่เมื่อโอนไปแล้วก็ไม่สามารถติดต่อกับเพจดังกล่าวได้อีก
ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่า เพจดังกล่าวมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกว่า 117 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 600,000 บาท อย่างไรก็ตามพบว่า เพจดังกล่าวนั้น เจ้าของเพจที่แท้จริงเป็นเครือข่ายแก๊งอาชญากรรมที่อยู่บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยนายบุริณที่ทางตำรวจสามารถจับกุมได้นั้น ทำหน้าที่เป็นผู้ถือบัญชีม้าผู้จัดหาบัญชีม้าและผู้กดเงินสดเพื่อนำเงินส่งข้ามไปยังชายแดน
เบื้องต้น นายบุริณให้การรับสารภาพว่า รับหน้าที่เป็นบัญชีม้าและผู้ถอนเงินจริงและยังสามารถให้การซัดทอดไปถึงบัญชีม้าได้อีกหลายราย ทางตำรวจจึงได้แจ้งดำเนินคดีข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงเป็นบุคคลอื่น, นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์, สมคบกัน 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน
พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ เปิดเผยว่า จากสถิติการรับเรื่องแจ้งความอาชญากรรมออนไลน์ตั้งแต่ปี 2565-2567 พบว่าคดีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการมีจำนวนมากที่สุด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีเรื่องของการหลอกลวงจองที่พัก อีกทั้งยังพบว่าในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สถานศึกษาปิดเทอมและเป็นช่วง High Season จะพบสถิติการก่ออาชญากรรมหลอกลวงจองที่พักเป็นจำนวนมาก ทางตำรวจไซเบอร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการจัดการปราบปรามเพจปลอมเหล่านี้ให้หมดไป อีกทั้งฝากเตือนให้ระมัดระวังการจองที่พักผ่านทางออนไลน์ โดยเน้นย้ำว่า หากเป็นเพจ Facebook ควรจะต้องเป็นเพจที่ได้รับการรับรอง Blue check หรือมีเครื่องหมายติ๊กถูกหลังชื่อเพจหรือเป็นสถานที่พักที่จดทะเบียนถูกต้องจากทางราชการ ทางที่ดีที่สุดควรจองผ่านเว็บไซต์ที่ได้รับมาตรฐาน รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนโอนเงินด้วยการโทรเช็กไปที่เบอร์โทรศัพท์ตามที่ปรากฏให้ชัวร์ว่า เป็นสถานที่พักจริงหรือไม่หรือเข้าไปเช็กข้อมูลในเว็บไซต์ “เช็คก่อน.com” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและที่สำคัญก็คือ บัญชีธนาคารที่ต้องโอนเงินนั้น ควรจะต้องเป็นบัญชีของโรงแรมที่พักหรือบริษัท ไม่ควรเป็นบัญชีของส่วนบุคคล
ด้าน พล.ต.ต.พงษ์สยาม เปิดเผยว่า ในส่วนตำรวจท่องเที่ยวได้ร่วมมือกับทางตำรวจไซเบอร์ในการกำหนดแนวทางป้องกันการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ที่มาก่อเหตุกับวงการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งการหลอกจองที่พักรวมไปถึงการหลอกขายโปรแกรมทัวร์ ซึ่งทางตำรวจท่องเที่ยว พร้อมที่จะให้การดูแลทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อเสริมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยได้เน้นย้ำประสานความร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์ ตำรวจท้องที่ รวมทั้งสถานประกอบการโรงแรม ในการเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมกับนักท่องเที่ยว รวมทั้งตำรวจท่องเที่ยวเองได้เตรียมแผนในการรองรับการเปิดประเทศฟรีวีซ่าตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเริ่มป้องกันตั้งแต่ ที่ท่าอากาศยานไปจนถึงตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ
ด้านนายวีรพัฒน์ ชินพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาบริหารท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยว ได้แนะนำนักท่องเที่ยวที่ต้องการจองที่พักผ่านช่องทางออนไลน์ให้จองที่พักที่ได้มาตรฐานและลงทะเบียนถูกต้องกับกรมการปกครอง และกรมการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนตรวจสอบที่พักสถานประกอบการต่างๆ ที่ลงทะเบียนไว้กับกรมการปกครองได้อย่างสะดวก
ขณะที่นายอุดม ศรีมหาโชตะ กรรมการและประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่โอนเงินจองที่พัก หากพบว่าบัญชีปลายทางเป็นชื่อบุคคล ไม่ใช่นิติบุคคล ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมิจฉาชีพหลอก จึงควรตรวจสอบก่อนโอน และภายหลังโอนเงินแล้วให้โทรศัพท์ตรวจสอบโดยตรงกับทางที่พักอีกครั้งว่ามีการจองห้องพักแล้วจริงหรือไม่ ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ถูกหลอกนั้น ได้ประสานให้สมาชิกในสมาคมให้การช่วยเหลือเบื้องต้นด้านที่พักก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย