“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพุธที่ 31 มกราคม 2567 ตอน 'ศรีสุวรรณ-เจ๋ง-การ์ตูน' แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง ลึกลงไปสภาฯ เน่ากว่า
เรื่องฉาวโฉ่กรณีการเรียกรับผลประโยชน์จากอธิบดีกรมการข้าวของ 'ศรีสุวรรณ จรรยา' นักร้องเรียนคนดังในแวดวงการเมือง 'ยศวริศ ชูกล่อม' หรือเจ๋ง ดอกจิก สมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และ 'พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์' อดีต ผู้สมัคร ส.ส.จังหวัดอุตรดิตถ์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าจะบอกว่าสร้างความสะเทือนต่อแวดวงการเมืองไม่น้อยก็ได้ เพราะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของการเมืองไทยดูสกปรกมากขึ้นไปอีก
แต่หากพิจารณาลงลึกกันจริงๆแล้ว กรณีของทั้งสามคน อาจเป็นแค่เพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะใต้ยอดภูเขาน้ำแข็งที่หลายคนมองไม่เห็นนั้นกลับมีเป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรกในทางการเมือง ที่ใครหลายคนคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในสภาผู้แทนราษฎร
การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรตามที่หลายคนเข้าใจนั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะการประชุมเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายหรือกระทู้ถามเท่านั้น เพราะมีงานสำคัญและเป็นชิ้นปลามันที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากระทรวง หรือ กรม คือ คณะกรรมาธิการ ซึ่งปัจจุบันตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดให้มีคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 คณะ
นอกจากนี้ ยังมีกรณีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญได้อีกส่วนหนึ่งเพื่อพิจารณาญัตติตามที่ประชุมสภาฯให้ความเห็นชอบ
ปัญหาที่สะสมเป็นเวลานานของเรื่องนี้อยู่ที่การตั้งคนแวดล้อมของส.ส.และพรรคการเมือง เข้ามาทำงานในคณะกรรมาธิการ หรือ คณะอนุกรรมาธิการ ในรูปแบบตำแหน่งที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษากรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ แม้ตำแหน่งพวกนี้จะไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินตามระเบียบของทางสภา แต่ด้านหนึ่งก็เป็นใบเบิกทางสำหรับการทำมาหารับประทานในทางการเมืองได้อย่างดี
หลายคนที่ได้รับตำแหน่งเหล่านี้ ได้แสดงอำนาจบาตรใหญ่อ้างถึงตำแหน่งของตนเองไปข่มขู่ข้าราชการที่เข้ามาชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ หรือแม้แต่หลังห้องประชุมก็มีความพยายามจะล็อบบี้เพื่อให้นำงบประมาณของส่วนราชการผันลงในพื้นที่ที่ตัวเองมีผลประโยชน์
ยิ่งเป็นช่วงที่สภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณด้วยแล้ว แทบไม่ต้องบอกว่าสภาฯจะกลายเป็นสถานที่สำหรับงานอื่นๆโดยเฉพาะตลาดซื้อขายโครงการ มีการเสนอเงินตอบแทนกันคึกคัก นอกเหนือไปจากการพิจารณาร่างกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากข่าวที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกรับผลประโยชน์เป็นเงิน 5 ล้านบาทจากอดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
ถ้าใครได้เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ หรือ อนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการสามัญ ก็จะอยู่ในตำแหน่งได้นานหน่อย ส่วนที่ปรึกษา หรือ อนุกรรมาธิการ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งค่อนข้างสั้นขึ้นอยู่กับกรอบเวลาที่สภาฯกำหนดให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯทำงานตามที่สภาได้มอบหมาย
ดังนั้น หากจะบอกว่าการทำงานของคณะกรรมาธิการ หรือ คณะกรรมาธิการวิสามัญ ในแต่ละสัปดาห์จึงไม่ต่างอะไรกับมหกรรมนัดพบของผู้รับเหมา เมื่อมาประจวบกับการทำงานของส.ส.ที่ไม่ได้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงยิ่งทำให้ประชาชนเริ่มเสื่อมศรัทธาต่อการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้นไปทุกขณะ
ถ้าจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่า น่าจะมาจากการที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่วางกติกาในการคัดกรองคุณสมบัติของบุคคลที่ไม่ได้เป็นส.ส.เข้ามาดำรงตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการ โดยปัจจุบันมีเฉพาะตำแหน่งข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง เท่านั้นที่ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ.2554 กำหนด
จึงเป็นช่องโหว่ที่ทำให้คนเคยมีประวัติรีดไถสามารถมีตำแหน่งในทางการเมืองและเป็นช่องทางแสวงประโยชน์
โดยเมื่อเกิดเรื่องแดงขึ้นมาทีนึง ก็จะมีการปลดออกจากตำแหน่ง แต่จากนั้นพอเรื่องเงียบ ก็กลับเข้ามาเหมือนเดิม ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงเดินหน้าเป็นวงกลมอย่างที่เห็น
ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่บรรดาผู้มีอำนาจต้องหาทางแก้ไขปัญหา ถ้าไม่เร่งฟื้นศรัทธาให้กับประชาชนอีกครั้งก็ระวังพังทั้งองคาพยพ
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android