xs
xsm
sm
md
lg

เผย จนท.คุกปากพนัง ป่วยซึมเศร้ายิงตัวเองดับ-มอบพื้นที่คอยสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชากันเกิดเหตุซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ราชทัณฑ์" แสดงความเสียใจ เหตุจนท.เรือนจำอำเภอปากพนัง ใช้ปืนยิงตนเองถึงแก่ชีวิต คาดป่วยซีมเศร้า-เครียด ประสานผู้บังคับบัญชาคอยดูแลลูกน้อง ให้คำปรึกษา

วันนี้ (30 ม.ค.) กรมราชทัณฑ์ เผยแพร่เอกสารโดยระบุว่า “ตามที่ปรากฏข่าวกรณีเจ้าหน้าที่เรือนจำอำเภอปากพนัง ก่อเหตุใช้อาวุธปืนทำร้ายตนเองจนถึงแก่ชีวิตภายในบ้านพักตนเอง นั้น 

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ได้รับรายงานจากเรือนจำอำเภอปากพนัง แจ้งว่า เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว เป็นข้าราชการในตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป ระดับชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่เรือนจำอำเภอปากพนัง โดยข้อมูลเบื้องต้นมีประวัติการเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาด้วยโรคซึมเศร้ามาประมาณ 10 ปี มีอาการเครียดในปัญหาชีวิตส่วนตัว โดยในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่รายนี้ไม่ได้มาปฏิบัติงานตามปกติ เจ้าหน้าที่เรือนจำฯ จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปหลายครั้งแต่ไม่มีผู้รับสาย จึงได้ติดต่อไปยังญาติที่พักอาศัยในพื้นที่ละแวกบ้านใกล้เคียงกัน 


เมื่อญาติไปดูพบว่าเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวเสียชีวิตภายในบ้านพักแล้ว และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่รายอื่นพบว่า เจ้าหน้าที่รายนี้ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย รับผิดชอบในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และมีบุคลิกเก็บตัวเงียบ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ชอบอยู่คนเดียว

ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ตลอดจนมอบหมายให้ผู้บัญชาการเรือนจำฯ ให้ความช่วยเหลือในการจัดพิธีศพของเจ้าหน้าที่รายดังกล่าว พร้อมกันนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก กรมราชทัณฑ์ ได้ดำเนินการ ดังนี้ 1.แสวงหาข้อเท็จจริงในสาเหตุที่นำสู่เหตุการณ์ความสูญเสีย เพื่อแก้ไขช่วยเหลือป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก , 2.เนื่องด้วยงานราชทัณฑ์เป็นงานตรากตรำ ทำให้เกิดภาวะความเครียดได้ง่าย กรมราชทัณฑ์จะได้ให้หน่วยงานในสังกัด เร่งประสานโรงพยาบาลแม่ข่าย/ศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อจัดกิจกรรม ให้คำปรึกษา หรือแจ้งหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน เพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางสุขภาพจิตแก่เจ้าหน้าที่หากมีภาวะซึมเศร้าหรือมีความเสี่ยงต่อไป และ 3.ให้ผู้บัญชาการเรือนจำ/ผู้อำนวยการทัณฑสถานทั่วประเทศ ผู้บังคับบัญชา ตลอดจนเพื่อนร่วมงาน คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน หมั่นให้ความใส่ใจ ซักถาม ทำความเข้าใจ และดูแลช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาอย่างใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น