xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : 'พิธา' รีเทิร์นกลับสภา เติมพลังให้ 'ก้าวไกล' ลุ้นอีกยก 'คดียุบพรรค'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ตอน 'พิธา' รีเทิร์นกลับสภา เติมพลังให้ 'ก้าวไกล' ลุ้นอีกยก 'คดียุบพรรค'



คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มกราคม ในการให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลับเข้ามาทำหน้าที่เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อีกครั้ง น่าจะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับแฟนคลับของ 'ทิม' และพรรคก้าวไกล พอสมควร อย่างน้อยที่สุดทิศทางการทำงานของพรรคก้าวไกลจะมีความชัดเจนขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ

ต้องยอมรับว่าตลอด 6 เดือนที่พิธา ไม่ได้เป็นส.ส.และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะเห็นได้ว่าเกิดเรื่องที่เป็นแง่ลบกระทบต่อพรรคก้าวไกลหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัญหาภายในเป็นสำคัญ ถึงขนาดที่ต้องมีการขับส.ส.พ้นจากพรรคถึงสองคน

นี่ยังไม่นับกรณีผู้ช่วยส.ส.ของพรรคก้าวไกล ยกพวกตะลุมบอนกันเอง ยิ่งเป็นทำให้สถานะของพรรคก้าวไกลแกว่งไปแกว่งมาพอสมควร

แม้ว่าห้วงเวลาที่พรรคก้าวไกลไม่ได้มี 'พิธา' เป็นผู้นำ 'ชัยธวัช ตุลาธน' ได้ก้าวจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค ขึ้นมาทำงานเบื้องหน้าในตำแหน่งหัวหน้า แต่คนในพรรคก็ทราบกันดีว่า 'ต๋อม ชัยธวัช' ไม่ได้เป็นหัวหน้าจริง ทำให้ส.ส.และคนในพรรคก้าวไกล ก็ยังวิตกกับจังหวะจะเดินของพรรคพอสมควร

ดังนั้น การกลับมาของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ถึงจะไม่มีโอกาสชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในห้วงเวลาที่เหลืออีกประมาณ 3 ปี แต่ก็น่าจะทำให้ 'ต๋อม' หรือแม้แต่ 'ศิริกัญญา ตันสกุล' รองหัวหน้าพรรค ไม่ต้องแบกพรรคจนหลังแอ่นเกินไปเหมือนที่ผ่านมา

เส้นทางต่อไปข้างหน้าภายหลังการกลับมาของ 'พิธา' น่าจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่สำคัญอย่างน้อย 2 เรื่อง

1.การพิจารณาคดีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 มกราคม ผลของคดีมีปลายทางถึงการยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิทางการเมือง เมื่อมองในมุมของพรรคก้าวไกล ยังมองโลกในแง่ดีว่าพรรคก้าวไกลไม่น่าจะถูกยุบพรรค เนื่องจากการเสนอกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่เฉพาะของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเหลียวย้อนไปมองคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อหลายปีก่อน โลกสีส้มของพรรคก้าวไกล อาจเปลี่ยนสีเป็นอื่นก็ได้

2.การทำงานในฐานะฝ่ายค้าน ถ้ามองกันตามความเป็นจริงแล้ว การที่ 'พิธา' จะเป็นหรือไม่เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ทำให้นัยทางการเมืองแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯจะมีอำนาจหน้าที่พิเศษกว่าส.ส.ทั่วไป คือ การเข้าไปทำหน้าที่ในกรรมการสรรหากรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทยตามปกติ

เพียงแต่การมี 'พิธา' อยู่ในสภา ย่อมดีกว่าไม่ได้อยู่ในสภา เพราะการได้กลับเข้ามาจะเป็นประโยชน์ต่อ 'พิธา' ในการแต่งตัวเตรียมลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งอย่างช้าที่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการเมืองในเวลานั้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหาก 'พิธา' ได้อภิปรายศซักค้านหรือให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลในสภา ย่อมได้รับความสนใจจากสาธารณะมากกว่าการอภิปรายนอกสภา ลองเปรียบเทียบ 'แพทองธาร ชินวัตร' หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม้จะมีฐานทางการเมืองและบารมีของครอบครัวที่คอยโอบอุ้มอยู่ แต่สุดท้ายก็ต้องหางานทำในตำแหน่งรองประธานบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ เพราะงานที่ทำจะเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้สังคมหันมาสนใจ เพราะลำพังแค่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่อาจแสดงผลงานได้มากพอในการชิงตำแหน่งนายกฯในอนาคต

เพราฉะนั้น การกลับมาของ 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' จึงส่งผลดีต่อพรรคก้าวไกล แต่จะไปได้ไกลแค่ไหนต้องลุ้นกันอีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น