ศาลฎีกานักการเมือง สั่งปรับ บริษัท สไตเออร์ ฯประเทศออสเตรีย 266,666 บาทฐานสนับสนุนผู้กระทำผิดคดีรถเรือดับเพลิงซึ่งเป็นโทษหนักสุด คดีจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง-ชี้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้นปม ป.ป.ช.ขอให้ลงโทษฐานฮั้วประมูลเนื่องจากปรับหนักกว่า
วันนี้ (25 ม.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.อธ.12/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย ,นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.,บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย,นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการ กทม. เป็นจำเลยที่ 1-6
สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากคดีหมายเลขดำที่ อม.5/2554 ที่โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 4 เป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลต่างประเทศ และเป็นคู่สัญญาผู้ขายยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยให้แก่กรุงเทพมหานคร และจำเลยที่ 6 ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระหว่างปลายปี 2545 ถึงต้นปี 2549 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งราชการโดยมิชอบและโดยทุจริต ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 โดยฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบของทางราชการเกี่ยวกับการพัสดุ มีจำเลยที่ 5 ร่วมและสนับสนุนการกระทำความผิดโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่
กล่าวคือ จำเลยที่ 5 จัดทำร่างข้อตกลงของความเข้าใจ (Agreement of Under standing : A.O.U) แล้วมอบหมายให้ทูตพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐออสเตรียนำร่าง A.O.U. ไปให้จำเลยที่ 4 ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อพิจารณารับร่าง ในวันเดียวกัน ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้น มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ว่า ร่าง A.O.U ถูกต้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ลงนามในร่าง A.O.U โดยปราศจากอำนาจ และ ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้นลงนามในข้อตกลงซื้อขายยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยกับจำเลยที่ 5 ไม่เป็นไปตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ และไม่ได้ขอรับความเห็นกับตรวจสอบความถูกต้องจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เป็นเหตุให้กรุงเทพมหานครตกลงซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 5 ซึ่งบางร่ายการผลิตขึ้นในประเทศไทยและมีราคาแพงกว่าราคาในท้องตลาด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและกรุงเทพมหานคร
จำเลยที่ 3 กับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศร่วมกับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวของจำเลยที่ 3 ผลักดันให้กระทรวงพาณิชย์เสนอคณะรัฐมนตรีให้มีมติเน้นสินค้าประเภทไก่ต้สุกแทนที่จะเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ไม่เป็นไป ตามหลักการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติและตามวิธีการค้าต่างตอบแทน เป็นเหตุให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าต่อสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นเงิน 6,687,489,000 บาท จำเลยที่ 6 ทราบว่าจำเลยที่ 4 และ ผู้ว่าฯ กทม.ขณะนั้นยื่นคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ให้แก่จำเลยที่ 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบ ทั้งมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งระงับการขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (1/C) และให้ธนาคาร ก. อนุมัติวงเงินเพื่อจ่ายให้แก่จำเลยที่ 5 โดยไม่พิจารณาถึงขั้นตอนการจัดซื้อที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบราชการ และแก้ไขข้อความอันเป็นสาระสำคัญของเงื่อนไขในเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) หลายรายการ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 5 ในการส่งมอบสินค้าและการชำระเงิน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 83 และมาตรา 86 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 มาตรา 11 มาตรา 12 และมาตรา 13 จำเลยที่ 5 ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 9 จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 ปี และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 10 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 6 คดีถึงที่สุดแล้ว
ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ขึ้นพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ.2560 มาตรา 28 ศาลอนุญาต แต่จำเลยที่ 5 ไม่มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก จึงถือว่าให้การปฏิเสธตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 33 วรรคสาม และเมื่อศาลออกหมายจับกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 5 มาเพื่อพิจารณาคดี แต่ไม่สามารถจับได้ภายในสามเดือนนับแต่วันออกหมายจับ ศาลจึงพิจารณาคดีจำเลยที่ 5 ต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 วรรคสอง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2542 มาตรา 7ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับ 266,666 บาทไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งลงโทษจำเลยที่ 5 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 หรือไม่
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 9 ได้กำหนดให้ศาลใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดแต่บทเดียว ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาปรับบทลงโทษ เมื่อปรับบทลงโทษบทหนักที่สุดแล้ว จึงจะพิจารณาโทษที่จะใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดต่อไป เพื่อให้ใช้บทบัญญัติที่เป็นความผิดร้ายแรงที่สุดลงโทษผู้กระทำความผิด โดยบทบัญญัติที่เป็นความผิดร้ายแรงที่สุดคือ บทบัญญัติที่มีโทษหนักที่สุด ไม่จำต้องพิจารณาถึงสถานะของผู้กระทำความผิดว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่จะสามารถบังคับโทษนั้นได้หรือไม่ ด้วยดังที่โจทก์อุทธรณ์ มิฉะนั้นจะเป็นการขยายความนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของกฎหมายส่วนโทษใดเป็นโทษหนักที่สุดนั้น ต้องพิจารณาตามลำดับโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ได้แก่ ประหารชีวิตจำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน โดยโทษที่อยู่ในลำดับก่อนในมาตรานี้ย่อมหนักกว่าโทษที่อยู่ในลำดับหลัง
ทั้งนี้เมื่อความผิดบทใดเป็นบทหนักแล้ว ก็ใช้อัตราโทษทั้งหมดไม่ว่าโทษจำคุกและโทษปรับตามบทความผิดนั้นเพียงบทเดียวลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด แม้อัตราโทษในบทเบาจะบัญญัติโทษปรับไว้สูงกว่าโทษปรับในบทหนักก็ไม่อาจนำมาใช้ลงโทษได้ เมื่อคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า การกระทำตามฟ้องของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อพิจารณาบทกำหนดโทษของทุกฐานความผิดแล้ว เห็นได้ว่าความผิดทุกบทต่างมีอัตราโทษจำคุกเช่นเดียวกัน กรณีจึงต้องพิจารณาว่าบทความผิดใดมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงมากที่สุด
เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 5 ปี ดังนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงมากกว่าจึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และเมื่อถือว่าความผิดบทนี้เป็นบทหนักแล้ว ก็ต้องใช้อัตราโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับตามบทนี้ลงโทษ แม้อัตราโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 จะกำหนดอัตราโทษปรับไว้ร้อยละ 50 ของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
ซึ่งในคดีนี้เมื่อคำนวณแล้วจะมีจำนวนเงินสูงกว่าโทษปรับในบทหนักก็ตาม ก็มิใช่ความผิดบทที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนสถานะของจำเลยที่ 5 ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่อาจถูกลงโทษจำคุกได้นั้น ไม่ใช่เงื่อนไขที่จะต้องนำมาพิจารณาในการปรับบทลงโทษตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้นจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2556 คดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.ดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้จำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี โดยไม่รอลงอาญา และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เป็นเวลา 10 ปี ไม่รอลงอาญา ในความผิดตาม พ.ร.บ.การเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล กรณีจัดซื้อจัดจ้างรถและเรือดับเพลิง กรุงเทพมหานคร
ส่วน นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาลให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่พบความผิด
ส่วนในวันนี้ศาลจึงมีคำสั่งปรับ บริษัท สไตเออร์ ฯ ประเทศออสเตรีย จำนวน 266,666 บาท