xs
xsm
sm
md
lg

“รมว.ยธ.” นำคณะ มอบเงินเยียวยาเหตุพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี รวม 22 ราย เป็นเงิน 4.4 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - "ทวี สอดส่อง" พร้อมกรมคุ้มครองสิทธิฯ ลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือ เหตุพลุระเบิด จ.สุพรรณบุรี จำนวน 22 ราย รวมเป็นเงิน 4.4 ล้านบาท

วันนี้ (23 ม.ค.) เวลา 17.30 น. ณ อบต.ศาลาขาว หมู่ 2 ต.ศาลาขาว อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม น.ส.เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ , นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ , น.ส.จิฬาภรณ์ ตามชู กฤษณสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา และคณะ เดินทางลงพื้นที่มอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ทายาทผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์พลุระเบิดในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 22 ราย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4,400,000 บาท

สำหรับพิธีมอบเงินเยียวยาฯ ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 ได้เกิดเหตุการณ์โรงงานผลิตพลุในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ระเบิด เป็นเหตุให้พื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนถึง 23 ราย และเมื่อวันที่ 22 ม.ค.67 อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้มอบหมายให้ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ ประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ครั้งที่ 1/2567 ผ่านทางระบบออนไลน์ โดยมี นายประทีป การมิตรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธาน และมี น.ส.ลดาวัลย์ โรจนพานิช ยุติธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว

โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากเหตุการณ์พลุระเบิด ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2559) จำนวน 22 รายๆ ละ 200,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4,400,000 บาท เนื่องจากเป็นคดีอุจฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ และเป็นที่สนใจของสาธารณชน และเห็นควรชะลอ 1 ราย เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในส่วนของเจ้าของโรงงานว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดหรือไม่

กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงได้จัดพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายคดีอาญาอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต อีกทั้งเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงสิทธิตามกฎหมาย และยังเป็นการชี้แนะช่องทางการให้บริการภารกิจคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม ผ่านสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่าง สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม

ทั้งนี้ ในโอกาสนี้ รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียหาย และกล่าวว่ารัฐบาลพร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในทุกมิติ พร้อมทั้งจะหามาตรการ กลไก ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก

“ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุการณ์พลุระเบิดในครั้งนี้ สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาครั้งนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิต จะได้รับเงินเยียวยารายละ 200,000 บาท ซึ่งถ้าจะพูดถึงตัวเงิน มันไม่สามารถแลกกับชีวิตที่ต้องสูญเสียไปได้ แต่ว่าเป็นการแสดงความตั้งใจเบื้องต้นของรัฐบาลที่อยากจะสื่อสารให้ทราบ เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ‘40 ที่อดีตนายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง (คปก.) ขึ้นมา และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เป็นที่มาของกฎหมาย มีเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งในอดีตก่อนปี 2544 ไม่มีกฏหมายนี้ เคยจำเหตุการณ์สมัย พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี มีเหตุการณ์อุบัติเหตุรถบรรทุกพ่วง 2 คัน ขนเชื้อปะทุหรือแก๊ป ระเบิด ราวปี 2534 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170 ชีวิต และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน บ้านเรือนได้รับความเสียหายจำนวนมาก แต่ครั้งนั้นไม่มีกฏหมาย ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย เช่นวันนี้ จึงต้องใช้ช่องทางรับบริจาค และมติ ครม. ช่วยเหลือ ซึ่งวันนี้มีกฏหมายที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกคนได้รับ การช่วยเหลือของกระทรวงยุติธรรม จากรัฐบาลในเบื้องต้นครับ ส่วนรายผู้เสียชีวิต 1 ราย ที่เป็นเจ้าของโรงงานนั้น เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากพนักงานสอบสวนว่าบุคคลดังกล่าว หากผลปรากฏว่าไม่เกี่ยวข้อง สำนักงานยุติธรรมจังหวัดฯ จะนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาในรอบต่อไปครับ”

“กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์หรือเหยื่ออาชญากรรมที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ส่วนกลาง (กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ) และส่วนภูมิภาค (สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ) หรือติดต่อสายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง”




กำลังโหลดความคิดเห็น