xs
xsm
sm
md
lg

“คุ้มครองสิทธิฯ” แจงเคส “ลุงเปี๊ยก” ถูกคลุมถุงดำ เร่งสอบเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหาย หรือไม่ หากผิดโทษหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยกฎหมายทรมานอุ้มหาย คุ้มครองกรณี “ลุงเปี๊ยก” หรือไม่ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากผิดโทษหนัก จำคุกตั้งแต่ 5 ปี จนตลอดชีวิต

กรณีมีข่าว "ลุงเปี๊ยก" ถูกกล่าวหาว่าลงมือฆ่า "ป้าบัวผัน" ต่อมาถูกปล่อยตัวเพราะจับกลุ่มผู้กระทำผิดได้นั้น ล่าสุดมีคลิปเสียงเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเสียงสนทนาของ ชาย 2 คน ระบุว่า ตำรวจอ้างลูกน้องมีการยอมรับว่ามีการคลุมถุงดำและล่ามโซ่จริง แต่อ้างว่าหลอกเล่น รวมถึงในคลิปเสียงยังพูดถึงลุงเปี๊ยก บอกว่าจริงๆเป็นคนรู้เรื่อง จำได้หมดและตอนเล่าเหตุการณ์ไม่ได้เมา นั้น

วันนี้ (18 ม.ค.) นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่แน่ชัด ส่วนจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (กฎหมายซ้อมทรมานและอุ้มหาย) หรือไม่นั้น ต้องรอผลการสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ชัดเจนก่อน โดยที่กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีหลักการและสาระสำคัญ คือ ห้ามทรมาน กระทำที่โหดร้าย และอุ้มหาย อย่างเด็ดขาด โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ เป็นความผิดสากลที่เอาผิดได้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกสถานที่

นายธีรยุทธ เผยว่า โดยองค์ประกอบความผิดแต่ละฐาน พิจารณาจาก (1) ผู้กระทำ (2) การกระทำ (3) วัตถุประสงค์ และ (4) ผลของการกระทำ เช่น ฐานความผิดการกระทำทรมาน ผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ใช้อำนาจรัฐ กระทำการใดๆ ต่อผู้อื่น เพื่อให้ได้ข้อมูล หรือรับสารภาพ ลงโทษ ข่มขู่ เลือกปฏิบัติ ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ (อาทิ คลุมถุงดำศีรษะ ไฟจี้ ไฟฟ้าช๊อต ล่ามโซ่ ซ้อม ทุบตี ฯลฯ) เป็นต้น

“ถ้ามีการกระทำผิดต้องขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเท่านั้นและทุกกรณี หากเป็นการกระทำทรมาน อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี จนถึงตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท นอกจากนั้น ผู้บังคับบัญชาโดยตรงที่รู้การกระทำนั้นแต่เพิกเฉยต้องรับโทษกึ่งหนึ่ง ส่วนผู้สนับสนุนรับโทษเท่าตัวการ ผู้สมคบรับโทษหนึ่งในสามแต่ถ้าความผิดสำเร็จรับโทษเท่าตัวการ”

นายธีรยุทธ กล่าวว่า กฎหมายกำหนดว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการควบคุมตัว หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือการกระทำอื่นที่เป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายบุคคล จะต้องทำการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมตัว เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัย พร้อมทั้งแจ้งการควบคุมตัวไปยังอัยการและฝ่ายปกครองให้ทราบ ซึ่งคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายได้ออกระเบียบแนวปฏิบัติให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติแล้ว ซึ่งผู้เสียหายหมายความถึง สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้อยู่กินฉันสามีภรรยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ และบุคคลที่กฎหมายกำหนด มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลการควบคุมตัว มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอยุติการกระทำความผิด รวมถึงสิทธิการได้รับการเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น

นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากผู้ใดที่พบเห็นหรือทราบการทรมานฯ บุคคลใด ให้แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ได้ทุกท้องที่ ทุกจังหวัด รวมถึงสามารถแจ้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อจะได้ประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องต่อไป และหากการแจ้งนั้นกระทำโดยสุจริต ไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย แม้ปรากฎภายหลังว่าไม่มีการกระทำผิดตามที่แจ้ง








กำลังโหลดความคิดเห็น