xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง JAL รอดยกลำ ถอดบทเรียนบินตก ตายยกลำปี 1985

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



รายการ “ถอนหมุดข่าว”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 2567 นำเสนอรายงานพิเศษ เบื้องหลัง JAL รอดยกลำ ถอดบทเรียนบินตก ตายยกลำปี 1985



จากกรณีเครื่องบินโดยสารแบบ A350-900 ของเจแปนแอร์ไลน์หรือ JAL ประสบอุบัติเหตุชนกับเครื่องบิน Bombardier Dash-8 ของหน่วยยามฝั่งขณะลงจอดที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งเสียชีวิต 5 นาย และแอร์บัสของ JAL เกิดไฟลุกไหม้วอดเป็นเถ้าถ่านทั้งลำ

แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้แต่ก็เป็นไปแล้วก็คือ ทั้งผู้โดยสารและลูกเรือของ JAL ในเที่ยวบินไฟนรกสามารถอพยพออกมาจากเครื่องบินได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว

ความสำเร็จในการเผชิญกับสถานการณ์คับขันที่มีชีวิตของผู้คนบนเครื่องนับร้อยเป็นเดิมพัน ทำให้ JALl ได้รับความชื่นชม และการยกย่องจากทั่วทุกสารทิศ แม้ว่า จะมีบางฝ่ายระบุว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นปาฏิหาริย์และความอัศจรรย์ของโชคชะตาก็ตาม

แต่ในความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ หากปราศจากหลักปฏิบัติตามขั้นตอน หรือ procedure ในการอพยพผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่อง กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน คงเป็นเรื่องยากที่จะไม่มีผู้หรือผู้ใดเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บ ในช่วงเวลาวิกฤต ที่ไม่ต่างอะไรกับการยืนอยู่บนปากเหวที่มีความตายรออยู่เบื้องล่าง

หากว่ามีการเจาะลึกลงไปยังต้นธารของกระบวนการทั้งหมด สิ่งที่จะอธิบาย ทุกอย่างได้แบบชัดเจนหมดจดก็คือ สายการบิน JAL ของญี่ปุ่นได้ใช้ โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียน เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุ และแนวทางป้องกันแก้ไข จนได้บทสรุปที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน

อันเป็นที่มาของการกำหนดขั้นตอน และแนวทางการปฏิบัติที่ถูกนำไปปลูกฝังอบรมให้อยู่ในจิตวิญญาณ ของนักบินและลูกเรือ ที่มุ่งเน้น ความปลอดภัยในชีวิตของผู้โดยสาร เป็นประการแรกที่สำคัญที่สุด ขณะที่การบริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจ รวมทั้งการพิทักษ์รักษาทรัพย์สินถือเป็นเรื่องรอง

หากย้อนไปดูประวัติของ JAL ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า JAL เคยเผชิญกับ อุบัติภัยร้ายแรงที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมกลืนกินชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือ กว่า 400 คน เมื่อเครื่องบินโดยสารของ JAL ประสบอุบัติเหตุตกทะเล และไม่มีผู้ใดรอดชีวิตแม้แต่คนเดียว โดยอุบัติภัยครั้งใหญ่ที่สุดของ JAL ดังกล่าว เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1985

จึง JAL ได้พลิกวิกฤต ดังกล่าวให้เป็นโอกาสในการวิเคราะห์ เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้น โดยละเอียดเพื่อเตรียมจัดทำแผนเผชิญเหตุให้มีความสอดคล้องกับทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ในการสร้างเครื่องบิน การจัดวางผังที่นั่ง และตำแหน่งของประตูฉุกเฉิน ช่องทางขึ้นลงคาร์โก้เก็บสัมภาระใต้ท้องระบบระบายอากาศ สัญญาณเตือนภัย และอื่น ๆ แบบที่เรียกว่า ทำการศึกษาวิเคราะห์วิจัยทุกตารางนิ้วของเครื่องบิน

จากนั้นได้มีการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน และติดตั้งกล้องไว้ในห้องโดยสาร ขณะทำการทดสอบโดยใช้หุ่นจำลองแทนคนจริง ๆ

หลังจากใช้เวลานานนับปี JAL ก็ได้ข้อสรุปว่า รายการอพยพผู้โดยสารเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งนักบินที่เป็นกัปตัน และนักบินผู้ช่วย ตลอดจนลูกเรือบนเครื่อง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ณ ตำแหน่งใด รวมทั้งมีข้อกำหนดด้วยว่าผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องจะต้อง ถูกควบคุมการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดภายใต้คำสั่งของลูกเรือ

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา นักบินและลูกเรือของ JAL ทุกนาย ได้ถูกฝึกฝน เรียนรู้ขั้นตอนของการเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มงวดจริงจัง จนทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้โดยอัตโนมัติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีฉุกเฉินจากสถานการณ์ไฟไหม้ JAL ทุกนาย ต่างรู้ดีและจำได้ขึ้นใจว่า พวกเขาจะต้องอพยพผู้โดยสารและตนเองให้ออกจากเครื่องบินให้หมด ภายในเวลา 90 วินาที เพราะเครื่องบินจะทนทานเปลวเพลิงได้เพียง 120 วินาทีเท่านั้น

การที่ JAL ดำเนินการดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ JAL ประกาศตนเองว่า เป็นสายการบินที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดในโลก และคำประกาศดังกล่าว ก็ได้รับการยอมรับจากสถาบัน มาตรฐานความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบินในเวลาต่อมา

กระนั้นก็ตาม ยังคงมีบางฝ่ายโดยเฉพาะสายการบินอื่นที่ถือว่าเป็นคู่แข่งกับ JAL ยังคงคลางแคลงใจในเรื่องดังกล่าว เพราะการกำหนดขั้นตอนในเอกสาร หรือการฝึกฝนเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด อาจไม่ใช่เรื่องการันตีว่า หากมีสถานการณ์จริงเกิดขึ้นทุกอย่าง จะเป็นไปตามทฤษฎีที่เขียนไว้หรือไม่

แล้วในที่สุด JAL ก็ได้พิสูจน์ให้โลกได้เห็นว่า สิ่งที่ JAL เตรียมการ มีความสมบูรณ์ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวด โดยนักบินและลูกเรือของ JAL สามารถปฏิบัติหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์แบบ

ด้วยการฝึกฝนอย่างเข้มงวด ตามสไตล์ของ JAL กัปตันในเที่ยวบินนี้จึงตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ลูกเรือซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาทุกนาย ก็ปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัดปราศจากความตื่นตระหนก รวมทั้งสามารถควบคุมผู้โดยสารไม่ให้เปิดประตูฉุกเฉินโดยพละการ เพื่อเอาชีวิตรอด เพราะคิดว่าสไลด์สำหรับหนีภัย จะกางออกภายใน 10 วินาที และผู้โดยสารที่เปิดประตูจะเป็นคนแรก ที่สามารถรอดพ้นไปจากเครื่องบินได้

ซึ่ง ในความเป็นจริง หากผู้โดยสารคนใดทำเช่นนั้น และเปิดประตูในตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับเปลวไฟ ก็จะกลายเป็นว่า เขาจะทำให้ ทั้งไฟและควันทะลักเข้ามาสู่ห้องโดยสาร

กลายเป็นกการวักมือให้มัจจุราชเข้ามาคร่าชีวิตของทุก ๆ คน ซึ่งจากภาพที่เห็น และปรากฏเป็นข่าว เครื่องบินได้ใช้ทางออกเพียงทางเดียว และผู้โดยสารทั้งหมดได้สไลด์ตัวลงมาจากเครื่องภายใต้การกำกับดูแลของลูกเรือที่วางไลน์ต่อกันเป็นลำดับตามความยาวของเครื่องบิน

ในวันนี้ทุกอย่างได้จบสิ้นลงแล้ว สำหรับผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ระทึกที่จะอยู่ในความทรงจำของพวกเขาไปตลอดกาล เช่นเดียวกับ JAL ที่จะได้รับการยกย่อง เชื่อถือ จากอุตสาหกรรมการบิน

และสำหรับผู้ที่จากไปจากโศกนาฏกรรมของ JAL เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็จะได้รับการรำลึกนึกถึงและยกย่องจากอนุชนเช่นกัน ในฐานะที่ชีวิตของพวกเขามิได้สูญเปล่า หากแต่เป็นการจุดประกายให้มีการเริ่มต้นการศึกษาวิจัยข้อกำหนดในการเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง จนสามารถปกป้องชีวิต ของผู้โดยสารในรุ่นหลังได้เป็นผลสำเร็จอย่างที่โลกประจักษ์ ในวันนี้

--------------------------------
**หมายเหตุ
แอป Sondhi App ดาวโหลดได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น