“ข่าวลึกปมลับ”เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APP สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูป NEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจ NEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม 2567 ตอน ดราม่าที่นั่งสำรอง คนพิเศษบนรถไฟฟ้า กฎมีช่องโหว่ เอาผิดไม่ได้
กลายเป็นอีกหนึ่งดราม่าที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่แพ้กรณีนักร้องชื่อดัง ภายหลังมีการแชร์ข้อความทางเฟซบุ๊กที่บรรยายถึงกรณีสตรีมีครรภ์ไม่ได้นั่งบนที่นั่งสำรอง หรือ Priority seat ที่ถูกจัดไว้บนรถไฟฟ้า
โดยระบุตอนหนึ่งว่า “ขอบคุณที่นั่งสำหรับ คนพิการ พระสงฆ์ และ คนท้อง (ที่ไม่ได้นั่งเลย ยืนตลอดสาย ) ตั้งแต่ แบริ่ง – อโศก และเป็นวัน ที่ 3 ม.ค. 67 เป็นวันที่คนเริ่มกลับมาทำงาน และ บนรถไฟฟ้า ผู้คนแน่นมาก ๆ แต่สำหรับคนท้องที่มีที่นั่งพิเศษ กลับไม่ได้นั่ง ส่วนคนที่แข็งแรง และ เป็นผู้ชาย แหงนหน้ามามองหลายรอบมาก แต่กลับนิ่งเฉย (ฉันยืนเหงื่อแตก ตาลาย ไหนมือนึงจะเกาะเสา ไหนอีกมือ จะคว้านหายาดมในกระเป๋า (แทบล้มตอนขบวนออกตัว)”
สำหรับปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังเป็นปัญหาที่กลายเป็นขี้ปากสังคมให้เห็นเป็นระยะ โดยข้อมูลจำนวนที่นั่ง Priority seat ของรถไฟฟ้าแต่ละสายนั้น มีดังนี้
รถไฟฟ้า BTS (ตู้ใหม่) มีที่นั่งสำรอง 3 ที่นั่งต่อตู้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ MRT สายสีน้ำเงิน มีที่นั่งสำรอง 6 ที่นั่ง ต่อตู้ 1 ขบวนมี 3 ตู้ เท่ากับขบวนละ 18 ที่นั่ง สายสีม่วง มีที่นั่งสำรอง 12 ที่นั่งต่อตู้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รถไฟฟ้าสายสีแดง มีที่นั่งสำรอง 3 ที่นั่งต่อตู้
จากจำนวนตัวเลขที่นั่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้โดยสารของรถไฟฟ้าแต่ละสี ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเป็นเส้นทางโดยสารภายในใจกลางเมือง โดยเฉพาะบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสีม่วง แน่นอนว่าจำนวนที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษทั้งเด็ก สตรีมีครรภ์ พระ ผู้สูงอายุ ย่อมไม่มีทางพอ
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาไปที่ข้อกฎหมายของประเทศไทยแล้วก็จะเห็นว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดเป็นลักษณะของการบังคับและไม่มีบทลงโทษกับผู้ไม่เอื้อเฟื้อดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยกรณีปัญหาที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ไม่มีกฎหมายรองรับสิทธิใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่ที่ผ่านมา บรรดาผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันอันเป็นแนวทางปฏิบัติว่า Priority seat ที่มีการให้บริการนั้นทุกคนสามารถเข้าไปนั่งได้ เพียงแต่ขอความร่วมมือว่าหากมีบุคคลพิเศษ ไมว่าจะเป็น เด็ก สตรีมีครรภ์ คนชรา ขึ้นมาใช้บริการ ขอความกรุณาสละที่นั่งส่วนนี้ให้กับบุคคลดังกล่าวด้วย
ขณะที่ กรณีการสำรองที่จอดรถให้สำหรับผู้พิการกลับมีกฎหมายรองรับสิทธิ คือ กฎกระทรวงกําหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอํานวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ หรือบริการสาธารณะอื่น เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ พ.ศ.2555 ซึ่งออกตามพ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.2534 ซึ่งต่างกับกรณีการสำรองที่
ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ของกฎกระทรวง กำหนดให้อาคารหรือสถานที่ของหน่วยงานต่างๆ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ เช่น บันไดเลื่อน พื้นที่สําหรับหนีภัย ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อนหรือทางเลื่อนในแนวราบ รวมถึงที่จอดรถสำหรับคนพิการ ซึ่งที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ต้องมีสัดส่วนอย่างน้อย 10% ของที่จอดรถทั้งหมด และต้องจัดให้เป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างไม่น้อยกว่า 2.4 เมตร ยาวไม่น้อยกว่า 6 เมตร และที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ทั้งยังต้องเป็นพื้นผิวเรียบมีระดับเสมอกับที่จอดรถ
อย่างไรก็ตาม แม้กฎกระทรวงจะรองรับเรื่องการให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ก็ไม่ได้มีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ละเมิดสิทธิของบุคคลกลุ่มพิเศษเหล่านี้ โดยเฉพาะกรณีเรื่องการจอดรถในพื้นที่สำหรับคนพิการ เนื่องจากพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ห้ามจอดตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 57
เมื่อไม่มีกฎหมายและบทลงโทษรองรับ ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาทำนองนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่นั่งสำรองหรือที่จอดรถสำหรับคนพิการ คงต้องอาศัยการสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดขึ้น เพราะจะรอให้รัฐบาลและสภาร่วมกันออกกฎหมายเพื่อกรณีนี้เป็นการเฉพาะย่อมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore : https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android